posttoday

พปชร.-บิ๊กตู่ ศึกหนัก กระแสตีกลับแรง

07 มกราคม 2562

ทำไปทำมา พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาสู่สถานการณ์หมู่บ้านกระสุนตกอีกครั้ง หลังส่งสัญญาณเพื่อขอเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 ก.พ.ออกไปก่อน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทำไปทำมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาสู่สถานการณ์หมู่บ้านกระสุนตกอีกครั้ง ภายหลังมีการส่งสัญญาณเพื่อขอเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 ก.พ.ออกไปก่อน

แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลจะยืนยันเสียงแข็งว่ายังอยู่ในกรอบ 150 วันตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลและ คสช.จะได้รับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้เสียแล้ว

ประเด็นของเรื่องไม่ได้อยู่แค่เพียงการขยับวันเลือกตั้งออกไปเท่านั้น แต่ยังมีความข้องใจในเรื่องความชัดเจนของรัฐบาลเข้ามาผสมด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเล่นแร่แปรธาตุด้วยการอ้างว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเป็นที่มาของการประชุมร่วมกับ กกต. เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา ซึ่งจากท่าทีของรัฐบาลต่อการประชุมในครั้งนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับการโยนเผือกร้อนเข้ามาใส่ในมือ กกต.

อย่างน้อยที่สุดหากมีการประกาศเลื่อนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจริง รัฐบาลจะได้มีข้ออ้างได้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้มาจากรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะมี กกต.ที่ตกกระไดพลอยโจนเข้ามาด้วย เรียกได้ว่าทั้ง กกต.และรัฐบาลยื่นหน้ารับก้อนอิฐพร้อมกัน

"เราได้คุยกันว่าถ้าเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.จะเกิดปัญหาหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าจะเกิดปัญหาจริง หากเลือกวันที่ 3 10 17 24 หรือ 31 มี.ค.ได้หรือไม่ กกต.จะเอาไปคิดดู" ท่าทีของรัฐบาลโดย 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกฯ"

จริงอยู่ที่พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเท่าใดนักต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ที่พรรคการเมืองแสดงท่าทีเช่นนั้นย่อมเป็นเพราะไม่ต้องการสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งที่อาจจะเป็นเหตุให้ คสช.มาอ้าง เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งไปอย่างไม่มีกำหนด จึงเลือก ที่จะอยู่อย่างสงบแทน

เพราะถึงอย่างไรเสียพรรคการเมืองต่างมองว่าสถานการณ์ในเวลานี้ทำให้ คสช.และรัฐบาลตกที่นั่งลำบากเสียเอง เนื่องมาจาก คสช.และรัฐบาลไม่สามารถให้ความชัดเจนได้

จากความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลและ คสช.ที่อาจโยงไปถึงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างเลี่ยงไม่ได้

ในฝั่งพรรคการเมืองอาจไม่ได้ตอบโต้ คสช.และรัฐบาลมากนัก แต่กลุ่มสังคมนอกภาคการเมืองกลับมีกระแสต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้งและการไม่มีความชัดเจนของรัฐบาลและ คสช.พอสมควร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการกำหนดวันทดสอบความถนัดทางวิชาทั่วไป (GAT) และการทดสอบ ความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ที่ทำท่าอาจจะมีการขยับกัน อีกครั้ง

เดิมการสอบดังกล่าวภาครัฐเคยกำหนดให้เป็นวันที่ 24 ก.พ. แต่เนื่องจากมีกระแสท้วงติงว่าจะทำให้เด็กที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปโดยปริยาย ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงวันสอบให้เร็วขึ้น เพื่อ ไม่ให้กระทบต่อสิทธิการออกเสียง เลือกตั้งของเยาวชน

แต่มาขณะนี้ เมื่อเริ่มมีกระแสจากบางฝ่ายที่อยากได้วันสอบตามเดิมภายหลังรัฐบาลเลื่อนวันเลือกตั้ง ปรากฏว่ารัฐบาลและ คสช.ก็ส่งสัญญาณว่ากำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยับวันสอบอีกครั้งเช่นกัน

"ตอนนี้ผมเห็นว่า มีกระแสว่า หลานๆ นักเรียนอยากจะ #ทวงคืน วันสอบ ผมเข้าใจหลานๆ นะครับ แต่อย่างไรก็ตามอยากให้หลานๆ อดทนรออีกเล็กน้อยให้ กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะได้สามารถวางแผนพิจารณาการเลื่อนวันสอบ GAT PAT ต่อไปครับ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุผ่านทวิตเตอร์

การเปลี่ยนวันสอบย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในเชิง หลักการแล้ววันสอบเป็นวันสำคัญของนักเรียนมัธยมปลายที่เตรียมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การที่รัฐบาลส่งสัญญาณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและขาดความชัดเจน ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจเป็นวงกว้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้ไม่ว่ารัฐบาลจะเดินไปทางไหนเหมือนสะดุดขาตัวเองไปเสียทั้งหมด

ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมาโดยตลอด โดยเฉพาะกระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์

ยิ่งมาสมทบกับมติพร้อมกับคำอธิบายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยิ่งซ้ำเติมรัฐบาลและ คสช.หนักขึ้นไปอีก

อาจมีบางช่วงที่รัฐบาลใช้กลยุทธ์ประชานิยม เพื่อเอาใจประชาชนและหวังจะลดกระแสต่อต้านและเพิ่มคะแนนความนิยม แต่ถ้ามองกันตามจริงแล้ว การทำเช่นนั้นเป็นเพียงแค่การซื้อเวลาและรักษารอยฟกช้ำ เบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาตรงจุดแต่อย่างใด

ดังนั้น รัฐบาลซึ่งอาจรวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐกำลังเจอพายุที่ รุมชกเข้าอย่างจัง โดยที่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามยังไม่ได้ออกแรงแม้แต่น้อย

แม้พรรคพลังประชารัฐจะนำหน้าพรรคการเมืองอื่นไปหลายช่วงตัว แต่เมื่อใดที่พลาดขึ้นมา ความได้เปรียบที่ถืออยู่จะกลายเป็นความเสียเปรียบทันที

เส้นทางสู่การเลือกตั้งยังอีกยาวไกล ถ้าพลาดตั้งแต่ต้นโอกาสที่จะพลิกกลับมาชนะคงยากเต็มที