posttoday

นโยบายเดือด ชิงดำเลือกตั้ง

17 ธันวาคม 2561

เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว หลังจากนี้ก็คือการประชันนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อช่วยชิงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี62

เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว หลังจากนี้ก็คือการประชันนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อช่วยชิงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี62

-*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยวินาทีนี้เดินเข้าสู่โหมดเต็มตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ภายหลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งปลดล็อกการเมืองตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

ถึงจะปลดล็อกล่าช้ากว่าที่คาดหมายกันเอาไว้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ปลดล็อกเลย

ทันทีที่การเมืองได้รับอิสรภาพดูเหมือนว่า หมากเกมนี้เข้าทาง คสช.เป็นอย่างยิ่ง กระแสต้านที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็ได้หายไปในทันที เพราะต่างมุ่งหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มตัว หากมัวมาเสียเวลารบกับ คสช.ไม่เลิกในตอนนี้ จะกลายเป็นการเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องไปแทน

การปลดล็อกที่เกิดขึ้น เป็นจังหวะการเดินที่ คสช. และทีมงานได้คิดกันมาก่อนแล้วว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบพรรคการเมืองคู่แข่งมากที่สุด

กล่าวคือ เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็แทบไม่เหลือเหตุผลที่ คสช.จะยื้อไว้อีก เพราะก่อนหน้านี้ คสช.ก็ได้แก้เกมและกับดักที่ซ่อนอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จนหมดสิ้นแล้ว

โดยเฉพาะการคลายปัญหาการทำไพรมารีโหวต ซึ่งถ้ายังเป็นไพรมารีโหวตเวอร์ชั่นที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกแบบ รับรองว่า เวลานี้แต่ละพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็คงต้องปวดหัวไม่เลิกแน่นอน ด้วยเหตุที่ต้องมาวุ่นวายกับการจัดวางตัวผู้สมัคร และยิ่งพรรคพลังประชารัฐมีอดีต สส.เข้าร่วมสมทบกันหนาตาด้วยแล้ว หากบรรดาพวกเกรดเอแพ้ไพรมารีโหวตขึ้นมา มีหวังพรรคแตกอย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่การแก้ปมปัญหาไพรมารีโหวตเท่านั้น แต่การเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ คสช.มั่นใจว่า ได้เปรียบเหนือคู่แข่งกัน ภายหลังการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรียกได้ว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าก็คงไม่แปลกนัก

ดังนั้น ในภาพรวมจะเห็นได้ว่ารัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐได้เดินนำหน้าพรรคการเมืองอื่นไปหลายช่วงตัวแล้ว พูดง่ายๆ คือ เหมือนกับนิทานกระต่ายกับเต่าที่กระต่ายวิ่งนำทิ้งห่างเต่าไปไกล ถ้าไม่ประมาทคู่แข่งแบบกระต่ายในนิทาน โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเข้าสภาในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวมากนัก

แต่ก่อนที่จะถึงเส้นชัยอย่างที่ว่านั้นได้ จะต้องผ่านด่านสมรภูมิเลือกตั้งให้ได้เสียก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จะดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะกติกาคุมการเลือกตั้งถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด การหาเสียงใน
รูปแบบเดิมๆ อย่างการตั้งเวทีปราศรัยหรือติดป้ายหาเสียงตามเสาไฟฟ้าจะไม่ได้มีบทบาทเหมือนในอดีตมากนัก โดยทุกอย่างจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งก็ได้ถูกออกแบบให้เข้าไปคุมถึงส่วนนั้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยชี้ขาดนั้นไม่ได้อยู่ที่ใครมีทรัพยากรมากกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองไหนจะตรงใจประชาชนมากกว่ากัน

ทุกวันนี้นโยบายของพรรคพลังประชารัฐเดินหน้าไปไกลกว่าพรรคการเมืองอื่นพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคเน้นการนำนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมาต่อยอดในการเลือกตั้ง ด้วยการเน้นวาทกรรมทำนองว่า “สานงานต่อให้จบ”

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หว่านเมล็ดพันธุ์เอาไว้มากมาย ยิ่งช่วงปลายปีนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนฐานรากผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ยังไม่นับการปูพรมจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรค่อนข้างถี่ในแต่ละภูมิภาค หากจะบอกว่าเป็นการเดินสายโชว์ตัวก็คงไม่ผิดนัก

พรรคพลังประชารัฐจึงเข้าจังหวะที่เรียกกันติดปากว่า “ใส่ก่อนได้เปรียบ”

ดูพรรคพลังประชารัฐแล้วก็หันมาดูพรรคการเมืองอื่นๆ พบว่า นโยบายพรรคยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก

พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต่างเป็นพรรคการเมืองสาขาของกันและกัน ปรากฏว่าจะสาละวนอยู่กับการสร้างวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ” ประมาณว่ายังท้าตีท้าต่อยกับ คสช.ไม่เลิก โดยยังไม่พูดเรื่องนโยบายเป็นจริงเป็นจังเท่าใดนัก

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะยังต้องการเก็บทีเด็ดไว้ช่วงโค้งสุดท้าย แต่อย่าลืมกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้คุมไปถึงนโยบายพรรคการเมืองที่ต้องระบุแหล่งที่มาของรายได้ด้วย ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ เหมือนในอดีต บางทีหากไปปล่อยของช่วงสุดท้ายอาจเจอกับการถูกเตะตัดขาได้เหมือนกัน

พรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่ออกตัวแรงมาตลอด แม้จะมีบางช่วงที่แรงจะตกไปบ้าง แต่ยังกำหมัดชกกับ คสช.บนเวทีได้ต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมออกนโยบายล้างมรดกของ คสช. เดินหน้าเอาใจฝ่ายที่ไม่ชอบกองทัพอย่างเต็มตัว

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย เริ่มระดมสมองปั้นนโยบายพรรคการเมืองกันให้เห็นบ้างแล้วผ่านกลไกของการประชุมพรรคและทีมยุทธศาสตร์

ที่สุดแล้วดูเหมือนว่า พรรคพลังประชารัฐจะแซงพรรคการเมืองอื่นไปไกลพอสมควร คงต้องมาดูว่าเมื่อการเลือกตั้งเข้าสู่โหมดการหาเสียงเต็มตัวภายหลังการมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเป็นทางการ อาจได้เห็นยุทธการพรรคการเมืองรุมกินโต๊ะพรรคพลังประชารัฐก็เป็นไปได้