posttoday

รู้ทันโลกออนไลน์ หาเสียงเลือกตั้ง

15 ธันวาคม 2561

เทคโนโลยีบนโลกยุคปัจจุบันนับว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ไปโดยปริยาย และแน่นอนว่าการเมืองก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เทคโนโลยีบนโลกยุคปัจจุบันนับว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ไปโดยปริยาย และแน่นอนว่าการเมืองก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้ทิศทางจะยังไม่ลงตัว ซึ่งต้องรอความชัดเจนในวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือกับพรรคการเมืองถึงกรอบแนวทางการดำเนินการหาเสียงบนโซเชียลมีเดีย

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายมุมมองว่า เนื่องจากปัจจุบันแคมเปญการเมืองนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์เยอะมาก ดังนั้น สิ่งที่ กกต.ต้องคำนึงคือเรื่องค่าใช้จ่ายกับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอ เพราะทุกคนคิดว่าโซเชียลมีเดียฟรี แต่จริงๆ แล้วไม่ฟรี แม้กระทั่งไลน์กรุ๊ป ก็มีค่าใช้จ่ายในการตั้งกลุ่ม ขณะเดียวกันนั้น ในส่วนของเฟซบุ๊ก การมีเพจก็ไม่ได้หมาย ความว่าทุกคนจะเข้าถึง ต้องมีการซื้อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมันเป็นศาสตร์และศิลป์ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะเจาะนั้นเป็นใคร

"ฉะนั้น กกต.ต้องคิดว่าค่าใช้จ่ายในการทำเพจที่เขาจะใช้ทำในการออกข้อมูล ควรจะใช้เนื้อหาข้อความที่ นำเสนออะไร แม้อาจจะไม่ใช่ Fake News หรือ Half True ความจริงครึ่งเดียว ถ้ามองเรื่องค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว แต่การรายงานว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรควรจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับโซเชียลออกไปด้วย"

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการติดป้าย หาเสียง กกต.จำกัดว่าติดได้ในพื้นที่ใดบ้าง ดังนั้น ข้อมูลจะไหลไปทางโซเชียล มีเดียซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และคงไม่มีทางเข้าไปไลน์ซึ่งเป็นกลุ่มปิด ประเด็นสำคัญ คือ เนื้อหาซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้หลายคนจะรู้จัก Fake News แต่ยังไม่รู้จักการป้องกัน และคนมักชอบเข้าไปดูในเรื่องที่ตัวเองอยากดู มีการตัดสินใจหรือให้เหตุผลเชิงอคติ

"มันมีสองอย่างที่เราไม่แน่ใจว่าเมื่อก่อนตัวเฟซบุ๊กเองเป็นคนควบคุมข่าวสาร หรือ Gatekeeper แต่เมื่อ เฟซบุ๊กใช้เอไอเข้ามาจัดการแทนใช้คน อย่างในอเมริกามันกลายเป็นเข้าไปจัดการข่าว Conservative มาก จึงเป็นปัญหาว่า กกต.จะใช้วิธีการอย่างไรจัดการกับข้อมูลที่ไหลอยู่"

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะทำอย่างไรกับตรงนี้ แม้เฟซบุ๊กจะมีมาตรการป้องกันแต่ยังมีช่องว่าง และที่ต้องกังวลในเรื่องการให้ข้อมูลเจาะกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น กกต.ต้องรู้เท่าทันเกี่ยวกับการหาเสียงออนไลน์และการใช้จ่ายบนเฟซบุ๊ก

ด้าน สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียกับการ หาเสียงในโลกปัจจุบันนับเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่ในด้านการเมือง แน่นอนการควบคุมทำได้ยากลำบาก ทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม ถ้า กกต.จะคุมเรื่องนี้จะต้องโยนหินถามทาง คือ บอกมาก่อนว่าทำอย่างไรบ้าง หากออกระเบียบมาเลย ฝืนความรู้สึกของประชาชนหรือสื่อมวลชน เหมือนกับการบังคับใช้อำนาจจนเกินไป ดังนั้น ควรเชิญทุกฝ่ายมาคุยกันก่อนที่จะออกระเบียบเรื่องนี้

"กกต.เป็นผู้ถือกฎหมาย แต่ผู้ปฏิบัติเป็นเรื่องของประชาชน นักการเมือง และสื่อที่จะใช้ หลักเกณฑ์ไม่มีอะไรมาก นอกจากอยู่ในหลักเกณฑ์ขอบเขตกฎหมาย ไม่ทำให้เขาเสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทกัน เพราะการเมืองวันนี้ คือ เอาหรือไม่เอาทหาร ต่างจากเมื่อก่อน"

นอกจากนี้ เนื่องด้วยระยะเวลาหาเสียงน้อยมาก การใช้โซเชียลของพรรคการเมืองต่างๆ กกต.ต้องวางระเบียบชัดเจน จะโฆษณาหาเสียงผ่าน กกต.ทุกอย่าง บางเรื่องนั้นเป็นไปได้และไม่ได้ ดังนั้น กกต.ต้องวางหลักเกณฑ์ในทางสายกลางไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป

ขณะเดียวกัน กกต.อย่าทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบกว่ากัน เช่น พรรคหนึ่งทำได้อีกพรรคทำไม่ได้ เมื่อ กกต.ถือดาบในมือต้องคมทั้งสองด้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญและ กกต.ต้องทำงานหนักอย่างยิ่ง เพื่อวางหลักเกณฑ์และระเบียบให้ชัดเจน

ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขา ธิการ กกต. เคยให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นดังกล่าวไว้เบื้องต้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ประกาศใช้ สรุปใจความได้ว่า ขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือผู้ใดทางอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการในลักษณะใด จะต้องแจ้งต่อ กกต.ล่วงหน้า และต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง

พร้อมทั้งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมการให้ข้อมูลผ่านโซเชียล มีเดียโดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.ก็จะลบข้อความเอง

"แม้จะมีการลบข้อความไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จ ต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไปก็ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย และในช่วงเลือกตั้งจะมีการตั้งวอร์รูมพิเศษ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมาคอยมอนิเตอร์ เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียล มีเดีย"