posttoday

"ไทยรักษาชาติ"อาวุธใหม่ แก้เกมรธน.สกัดเลือกตั้ง

07 พฤศจิกายน 2561

การแตกหน่อออกมาเป็นพรรคไทยรักษาชาติไม่ได้มีเหตุผลเฉพาะการแก้เกมระบบเลือกตั้ง แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยด้วย

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในต้นปี 2562 แทบจะไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศ เนื่องจากเป็นเกมสำคัญของพรรคการเมืองทุกพรรคและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีเดิมพันสูงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา

ในศึกนี้ คสช.เป็นสงครามที่แพ้ไม่ได้ ความพ่ายแพ้ถ้าเกิดกับ คสช.ย่อมหมายถึงความล้มเหลวในทางการเมืองตลอด 4 ปีที่ทำมา ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ให้การยอมรับ คสช.เลยแม้แต่น้อย เพราะหากผลงานดีจริง แน่นอนว่าประชาชนย่อมต้องการให้เข้ามาทำงานต่อให้จบ

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองก็ต้องการกลับมาเป็นผู้ชนะไม่ต่างกัน หลังจากถูก คสช.กดดันทางการเมืองมาตลอดเวลา 4 ปี ชัยชนะในสนามเลือกตั้งท่ามกลางกระแสความนิยมขาลงของ คสช. เป็นอีกหนึ่งความหวังที่พรรคการเมืองคิดว่าน่าจะพอมีโอกาสกำชัยชนะไม่ยากมากนัก

เมื่อการเดิมพันค่อนข้างสูง ทำให้พรรคการเมืองต้องแก้เกมกันหัวหมุนเลยทีเดียว

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกครั้งนี้จะอยู่ภายใต้ระบบที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” กล่าวคือใช้บัตรเลือกตั้งสส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงใบเดียวในการเลือก สส.ระบบแบ่งเขตและ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจรวมไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีทางอ้อม เนื่องจากพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลอย่างน้อย 3 คนที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การเลือกตั้งด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคการเมืองทุกพรรคมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งผู้สมัคร สส.ลงเขตเลือกตั้งให้มากที่สุดจากทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง เพื่อมาช่วยดึงให้พรรคการเมืองได้รับ สส.บัญชีรายชื่อด้วย

แต่อุปสรรคสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้จำนวน สส.เกินกว่าสัดส่วนคะแนนนิยมที่ตัวเองได้ เช่น ถ้าเมื่อนับคะแนนรวมทุกเขตเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองใดสัดส่วนคิดเป็น 50% ของคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด หากพรรคการเมืองนั้นได้ สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกิน 175 ที่นั่งแล้ว จะมีผลให้พรรคการเมืองนั้นไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่ออีก

ด้วยเหตุนี้เองพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์แตกพรรคการเมืองออกมา เพื่อเป็นพรรคสำหรับ สส.บัญชีรายชื่อเพียงอย่างเดียว

พรรคการเมืองที่ถูกแตกไลน์ออกมา คือ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งจะมีการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคในวันนี้

แนวทางการทำงานของพรรคไทยรักษาชาติ จะเป็นลักษณะแยกกันเดินแต่ร่วมกันตีกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่ให้ทั้งสองพรรคเกิดการตัดคะแนนกันเอง

กล่าวคือถ้าเขตเลือกตั้งไหนที่พรรคเพื่อไทยมีผู้สมัครที่แข่งในพื้นที่อยู่แล้ว พรรคไทยรักษาชาติจะไม่ได้ผู้สมัครเกรดเอลงในพื้นที่นั้นแข่งกับพรรคเพื่อไทย เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขากันเอง แต่จะหลบให้พรรคเพื่อไทยชนะในพื้นที่นั้น โดยให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติเข้าเส้นชัยเป็นหมายเลขสอง

ในทางกลับกันหากพื้นที่ใดพรรคเพื่อไทยไม่มีตัวผู้สมัครที่แข็งแรง พรรคไทยรักษาชาติก็จะส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้เช่นกัน แต่ก็จะหวังให้ได้คะแนนเพื่อไปใช้สำหรับ สส.ระบบบัญชีรายชื่อแทน การเดินเกมรูปแบบนี้ ในมุมของพรรคเพื่อไทยมองว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการตัดคะแนนกันเองของผู้สมัครทั้งสองพรรค

อย่างไรก็ตาม การแตกหน่อออกมาเป็นพรรคไทยรักษาชาตินั้น ไม่ได้มีเหตุผลเฉพาะการแก้เกมระบบเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยด้วย

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จำนวน 111 คน และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 109 คน จะกลับมาลงเลือกตั้งพร้อมกันอีกด้วย

เมื่อที่นั่งในพรรคมีจำกัดสวนทางกับจำนวนคนที่มีความต้องการจำนวนมาก ทำให้นักเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นอดีตสส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องออกจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่กับพรรคไทยรักษาชาติ อาทิ  จาตุรนต์ ฉายแสง, นพดล ปัทมะ, ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกเหตุผลสำคัญคือกระแสความไม่พอใจกับการขึ้นมาเป็นผู้นำของคุณหญิงสุดารัตน์

คุณหญิงสุดารัตน์เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งหมายถึงการมีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้ใครลงสมัครในเขตเลือกตั้งใด หรือจะให้อยู่ในบัญชีรายชื่อในลำดับที่เท่าไรก็ได้

แน่นอนว่าย่อมมีหลายคนที่ไม่แน่ใจว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะดูแลสมาชิกพรรคอย่างทั่วถึงเหมือนกับที่ดูแลกลุ่มอดีต สส.กทม.หรือไม่ ทำให้เลือกออกจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับพรรคไทยรักษาชาติเพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนในสนามเลือกตั้ง

ถึงที่สุดแล้วแม้ด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยจะมีสภาพแตกระแหงไปบ้าง แต่ความเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติยังเข้มข้นอยู่เหมือนเดิม เพราะยังมีนายใหญ่คนเดียวกันนั่นเอง

ในสนามเลือกตั้งอาจเหมือนเป็นคู่แข่งกัน แต่เมื่อเสร็จศึกเลือกตั้งแล้ว ก็พร้อมใจเข้าร่วมกันเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านทันที