posttoday

"อภิสิทธิ์" ผงาดหัวหน้า รับศึกหนักนำพรรคลุยเลือกตั้ง

05 พฤศจิกายน 2561

แนวโน้มตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะคงอยู่กับ"อภิสิทธิ์"อีกสมัย ที่มาพร้อมศึกหนักในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แนวโน้มตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะคงอยู่กับ"อภิสิทธิ์"อีกสมัย ที่มาพร้อมศึกหนักในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เกิดเป็นดราม่าเล็กๆ ขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังระบบการหยั่งเสียงเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนของ กทม.ภาคกลางและภาคเหนือผ่านทางออนไลน์เกิดล่มไม่เป็นท่าเมื่อวันที่1 พ.ย.ส่งผลให้ต้องเลื่อนการหยั่งเสียงไปเป็นวันที่ 9 พ.ย.แทน

ที่ว่าเกิดดราม่าในพรรคนั้นมาจากการที่ทีมงานไม่ได้ปรับเวลาของระบบให้เป็นเวลาตามประเทศไทย ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงคะแนน ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน จนต้องเลื่อนออกไปในที่สุด แต่เรื่องไม่จบลงแค่นั้นเพราะมีรายงานว่าความผิดพลาดในครั้งนี้มาจากกรรมการเลือกตั้งในสัดส่วนของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ไม่ยอมให้มีการเปิดระบบล่วงหน้า เล่นเอาบรรดาผู้สนับสนุนหมอวรงค์ต้องออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด

ที่มีข่าวออกมาเช่นนี้เพราะมีคนพยายามต้องการดิสเครดิตหมอวรงค์ และครั้งนี้เป็นการแข่งขันกันแบบพี่แบบน้อง เราเชื่อมั่นในความเป็นประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใสตามหลักของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม” ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว กรรมการเลือกตั้งหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของพรรคในสัดส่วนฝ่าย นพ.วรงค์ ระบุ

แต่ถึงกระนั้น ทุกอย่างกำลังเดินไปตามขั้นตอนเหลือแต่เพียงการนำเรื่องมาแก้ไขก่อนเปิดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 พ.ย.ต่อไป

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาถึงจุดนี้และเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันมีภาษีดีว่า “อลงกรณ์ พลบุตร” หรือแม้แต่หมอวรงค์เอง

ตัวชี้วัดหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้อันดับหนึ่งจะไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่ชื่อนี้ก็ยังติดกลุ่มบนแข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ของพรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาโดยตลอด

ผิดกับ “อลงกรณ์-หมอวรงค์” ที่ยังไม่มีชื่อติดมากับโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมากเท่าใดนัก หรืออย่างการเปิดประชุมพรรคเพื่อรับรองผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็จะพบว่าอภิสิทธิ์เป็นผู้ที่ได้รับการรับรองมากที่สุดเหนือกว่าทั้งสองคน

เรียกได้ว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ มีภาษีดีกว่าคู่แข่ง ดังนั้น หากจะบอกว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คงอยู่กับอภิสิทธิ์อีกสมัย

แต่โจทย์ใหญ่ของอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้จบลงแค่การเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะยังต้องแบกรับความกดดันอย่างมหาศาลในการเป็นผู้นำลงสนามเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งต้องอยู่ใต้ร่มเงาชัยชนะของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ในปี 2551 และส่งให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ สมัยแรกได้สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นการมาเป็นรัฐบาลในลักษณะของการสลับขั้วการเมืองมากกว่า

ทั้งนี้ เพราะเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ที่ได้เสียงข้างมากเนื่องจากเกิดการยุบพรรคพลังประชาชน และมี สส.ของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเทคะแนนให้กับประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างมากที่ได้รับฉันทามติมาจากประชาชน

เกือบสองทศวรรษที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นเบอร์สองรองจากพรรคเพื่อไทย จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งครั้งนี้อภิสิทธิ์ต้องแบกความกดดันมากกว่าทุกครั้ง

คู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทยเหมือนในอดีต แต่ยังมี “พรรคพลังประชารัฐ” อีกด้วย

สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ณ เวลานี้ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าไม่ได้เข้มแข็งเหมือนในอดีต เนื่องจากครอบครัวชินวัตรไม่ได้ส่งคนในบ้านเข้ามาสู่สนามการเมือง ประกอบกับฐานมวลชนของพรรคก็เกิดความไม่ลงรอยกัน จนแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองต่างหาก แต่เมื่อทักษิณยังไม่วางมือ แน่นอนว่าโอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลก็ยังมีอยู่

แต่ที่ดูจะเป็นกระดูกชิ้นโตคงหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ”

อย่างที่ทราบกันดีว่าพรรคพลังประชารัฐมีแรงสนับสนุนมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล เพื่อภารกิจปั้นบิ๊กตู่ให้
เป็นนายกฯ อีกสมัย

การที่พรรคพลังประชารัฐมี คสช.และรัฐบาลเป็นกองเชียร์ แน่นอนว่าทำให้ได้เปรียบเหนือกว่าทุกพรรค เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่พิเศษกว่าทุกรัฐบาลในอดีต โดยยังมีอำนาจสมบูรณ์ 100% ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ พรรคการเมืองคู่แข่ง รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบทุกประตู

โจทย์ใหญ่ของอภิสิทธิ์ครั้งนี้ เรียกได้ว่าน่าจะยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งการแบกรับความหวังของพรรคและการหาทางเอาชนะพรรคพลังประชารัฐ

ที่สุดแล้ว ผลการลงคะแนนเลือกตั้งที่สมาชิกพรรคพร้อมจะเทใจกับอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง จึงเป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งจะเป็นสนามพิสูจน์ฝีมือและความนิยมของอภิสิทธิ์อีกครั้ง

ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า อนาคตทางการเมืองของอดีตนายกฯ รายนี้จะมีบทสรุปอย่างไรด้วย