posttoday

เงื่อนไข'ปฏิวัติ' ฉุดกองทัพเข้าวังวน

19 ตุลาคม 2561

ความสัมพันธ์ระหว่าง "กองทัพ" กับ "การเมือง" ดูจะตัดกันไม่ขาดอย่างที่หลายฝ่ายตั้งความหวัง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ความสัมพันธ์ระหว่าง "กองทัพ" กับ "การเมือง" ดูจะตัดกันไม่ขาดอย่างที่หลายฝ่ายตั้งความหวัง

เมื่อล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเรื่อง "ปฏิวัติ"  ด้วยการตั้ง "เงื่อนไข" แบ่งรับแบ่งสู้ที่ชวนให้คิดว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

"สิ่งที่สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร"

แน่นอนว่าการหยิบยกเรื่อง "ความขัดแย้งทางการเมือง" อันอาจเป็นต้นเหตุแห่ง "จลาจล" มาเป็นเงื่อนไขเพื่อเปิดประตูปฏิวัตินั้น ดูจะไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

ยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งร่วม 4 ปี และเตรียมเดินหน้าตามโรดแมปพาประเทศกลับเข้าสู่ระบอบและกลไกปกติด้วยแล้ว

การส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจในกองทัพเช่นนี้จึงมีแต่จะยิ่งทำให้ "ทหาร" ยากจะกลับไปประจำกรมกองเพื่อทำหน้าที่แบบทหารมืออาชีพ แยกขาดจากการเมืองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

หากจำได้สถานกาณ์บ้านเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในแง่ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ส่งผลถึงการค้า การลงทุนต้องชะงักงันไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนเกิดการสูญเสียโอกาสของประเทศเป็นอย่างมาก

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่นานาชาติเริ่มเห็นบรรยากาศภายในประเทศกำลังจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติผ่านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน ปีหน้า การส่งสัญญาณของผู้บัญชาการทหารบกจึงอาจไม่ใช่เรื่องเหมาะสม ในสถานการณ์เช่นนี้

เมื่อทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ปล่อยให้ระบบและกลไกตามครรลองประชาธิปไตย เดินหน้าไปด้วยตัวของมันเอง

อันจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นที่เคยล้มหายไปในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา  ให้กลับคืนมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้ทั้งระยะเวลาและความต่อเนื่อง

จะเห็นจากแค่เมื่อครั้งต้องเลื่อนกรอบเวลาการเลือกตั้งออกมาเรื่อยๆ นั้น ล้วนแต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติ จนนักลงทุนหลายเจ้าต้องพับแผนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีความเชื่อมั่นมากกว่า

ดังนั้น หากเห็นสัญญาณ "ปฏิวัติ" ที่เปิดประตูรอพร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นที่กำลังดีขึ้นต้องลดน้อยถอยลงไปอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ที่สำคัญเงื่อนไข เรื่องความขัดแย้งหรือจลาจลที่มีสาเหตุมาจากการเมืองนั้น ล้วนแต่เป็นหนึ่งในเหตุผลเดิมๆ ที่ทางทหารมักจะหยิบยกมาใช้เพื่อทำการรัฐประหารในอดีต

ทั้งที่ในความเป็นจริงการปฏิวัติ รัฐประหาร อาจไม่ใช่เพียง "ทางออก" เดียวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้อง ชั่งน้ำหนักถึงสิ่งที่ได้รับ และสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว

อีกทั้งที่ผ่านมามีความพยายามพูดถึงเงื่อนไขเรื่องการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยตัวระบอบและกลไกที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แม้อาจต้องใช้เวลาหรือมีอุปสรรคปัญหาอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยจะได้เกิดการเรียนรู้ของสังคมและเป็นบทเรียนสร้างความเข้มแข็ง     ให้กับการเมืองต่อไปในระยะยาว

หากพิจารณาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเห็นว่ามีการออกแบบที่สร้างการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งมีกฎระเบียบที่เข้มงวดกับการใช้อำนาจ ใช้งบประมาณ

หรือแม้กระทั่งการเข้าไปควบคุมออกนโยบาย ซึ่งจะเป็นด่านแรกสำหรับป้องกันปัญหาการใช้อำนาจรัฐที่จะบานปลายไปสู่ความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมา

รวมไปถึงบรรดาองค์กรอิสระทั้งหลายที่จะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ ซึ่งผ่านการปรับปรุงแก้ปัญหาจุดอ่อนในอดีตมาเรียบร้อยแล้ว น่าจะช่วยให้กลไกทุกอย่างเดินหน้าไปตามวิถีทางประชาธิไตย

ที่สำคัญ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดเห็นเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง ความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้นในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นความสวยงามที่จะเห็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น และต้องไม่ใช้เสียงข้างมากละเลยเสียงข้างน้อย

การนำเสนอแนวนโยบาย แนวทางการบริหาร จุดยืนต่อเรื่องต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันนั้นจึงถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าเลือกใครมาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของตัวเอง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงควรจะถูกควบคุมด้วยกฎกติกาที่กำหนดขึ้นมา มากกว่าการใช้จาก "กองทัพ" เข้ามาล้มกระดานแล้วเริ่มต้นระบบกันใหม่

เมื่อในทางปฏิบัติแล้ว การใช้อำนาจเข้ามารีเซตระบบ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ไม่ได้สลายไป เพียงแต่ถูกซุกเก็บไว้ไม่ให้ก่อตัวออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น

ที่สำคัญการรัฐประหารถือเป็นการทำลายการเรียนรู้ประชาธิปไตยของสังคม เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดปัญหา แทนที่จะร่วมกันหาทางออกตามระบบ อาจจะร้องหารัฐประหารเพื่อคลี่คลายปัญหา

สุดท้ายกลายเป็นวังวนที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่อาจก้าวไปไหนได้สักที