posttoday

ล้มไพรมารีโหวต ปูทาง คสช.รีเทิร์น

03 กันยายน 2561

การยอมล้มไพรมารีโหวตจึงถือเป็นสัญญาณสำคัญ อันจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต

การยอมล้มไพรมารีโหวตจึงถือเป็นสัญญาณสำคัญ อันจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางปฏิรูปการเมืองส่อเค้าย่ำอยู่กับที่ เพราะแม้แต่กระบวนการมีส่วนร่วมที่สำคัญของประชาชนที่จะเข้าไปคัดเลือกผู้สมัครของแต่ละพรรค หรือไพรมารีโหวตนั้น สุดท้ายกลับกลายเป็นเพียงแค่การตั้งกรรมการขึ้นมาสรรหาผู้สมัครแทนจะให้ประชาชนได้คัดเลือกด้วยตัวเอง

หากจำได้ แม่น้ำ 5 สายประกาศเดินหน้าเอาจริงกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนจริงๆ ​ไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองของผู้มีอำนาจไม่กี่คน หรือถูกนายทุนครอบงำอยู่เบื้องหลังเหมือนที่ผ่านมา

ไพรมารีโหวตจึงถือเป็นอีกดัชนีชี้วัดที่สำคัญสำหรับการสร้างหลักประกันให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคในการคัดเลือกผู้สมัครที่จะไปเป็นปากเป็นเสียงของพวกเขาในอนาคต ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจในพรรค หรือนายทุนส่งคนของตัวเองมาลงสนามแบบไม่สนใจความคิดความเห็นของสมาชิก

ที่สำคัญแม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความยุ่งยากต่างๆ นานา ที่อาจนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายในอนาคต แต่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำสายอื่นๆ ยังยืนยันว่าจำเป็นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อวางบรรทัดฐานให้เป็นตัวอย่างต่อไปในอนาคต

จนระยะหลังทุกอย่างกลับตาลปัตรเมื่อ คสช.กลับเลือกกลืนน้ำลาย ประกาศเตรียมลดทอนรูปแบบความเข้มข้นของไพรมารีโหวตไปเรื่อยๆ มีการหยั่งเสียงด้วยข้อเสนอจากจากรูปแบบไพรมารีเขตเป็นไพรมารีจังหวัด จนถึงไพรมารีภาค ที่สุดท้ายถูกตีตกไป

ปัญหาอยู่ตรงที่เบื้องหลังของการปรับมาใช้กรรมการสรรหาแทนไพรมารีโหวตแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ถูกมองว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองบางพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุน คสช.เข้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัวผ่านกลไกการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะกับกระบวนการดูดอดีต สส.ของบางพรรค ​ที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็มสูบ แต่สุดท้ายกลับต้องมาเจออุปสรรค เพราะแม้จะดูดอดีต สส.ได้ แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากบรรดาสมาชิกพรรค อนุมัติให้คนเหล่านั้นลงสนามเลือกตั้ง การดูดที่สู้อุตส่าห์ทำมาก็ต้องมาถึงทางตันในขั้นตอนสุดท้าย

ยิ่งหากพิจารณาจากเสียงสะท้อนจากกระแสดูดที่หลายคนออกมาตั้งป้อมถล่มว่าสวนทางกับการปฏิรูป แถมฉุดให้การเมืองกลับสู่บรรยากาศเดิมๆ อันจะนำไปสู่วังวนของปัญหาเหมือนในอดีตด้วยแล้ว หากต้องทำไพรมารีโหวตกันจริงๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเหล่านี้จะได้รับฉันทามติจากสมาชิกให้เป็นตัวแทนไปลงสนาม

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ​เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ คงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูดๆไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครจะต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การทำไพรมารีโหวตถือเป็นความตั้งใจดี แต่ไปวางระบบให้ซับซ้อนและไม่ต้องกับเจตนารมณ์จริงๆ ซึ่ง คสช.ไม่ได้คิดที่จะแก้ปัญหา แต่ตั้งใจให้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองเดิม โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ไม่ได้แก้ให้มีผลดีกับพรรคการเมืองโดยรวม แต่เป็นการแก้เพื่อเอื้อพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.

สอดรับไปกับท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนพร้อมทำไพรมารีโหวตแบบเต็มรูปแบบ ขอเพียงแค่ให้ คสช.รีบเร่งปลดล็อกเพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการได้ทันเท่านั้น

การที่แต่ละพรรคการเมืองสะท้อนออกมาตรงกันว่าการล้มระบบไพรมารีโหวตทั้งที่เป็นความตั้งใจแต่เดิมของ คสช. เป็นเพราะต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรค จึงยิ่งตอกย้ำข้อครหาเรื่องการช่วงชิงจังหวะสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ คสช.มากยิ่งขึ้น

เริ่มตั้งแต่การเร่งทำคะแนนในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งในรูปแบบของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลคสช. กับการอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อันถือเป็นฐานเสียงใหญ่ที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก ​

รวมถึงการเดินสายจัดประชุม ครม.สัญจร ทั้งเมืองหลักเมืองรอง ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง อันถือเป็นไม้ตายเรียกคะแนนที่สำคัญของแทบทุกรัฐบาลในช่วงก่อนหมดวาระเดินหน้าสู่เลือกตั้ง

ที่สำคัญ การดึงเกมไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ หรือหาเสียงได้เต็มที่เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาตัดสินใจ ก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการชิงความได้เปรียบ รีบโกยคะแนนในช่วงที่พรรคอื่นๆ ไม่อาจออกมาเคลื่อนไหวใดๆ

การผ่อนคลายเพียงแค่ให้พรรคการเมืองสามารถประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหาร หรือทำกิจกรรมเพื่อให้เดินหน้าไปตามกลไกการเลือกตั้ง จึงเป็นเพียงแค่การยื้อเวลาหาเสียงออกไปให้ได้นานที่สุด

รวมทั้งล่าสุด รัฐบาล คสช.เตรียมเข้าไปควบคุมตรวจสอบช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้เป็นกลไกหาเสียงของพรรคการเมือง ก่อนจะถึงเวลาเป่านกหวีด โดยหยิบยก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้ามาควบคุมเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ ใส่ร้ายป้ายสี ที่จะยิ่งตีกรอบให้พรรคการเมืองไม่มีพื้นที่แสดงความคิดความเห็น

การยอมกลืนน้ำลายล้มไพรมารีโหวตจึงถือเป็นสัญญาณสำคัญ อันจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต