posttoday

อภินิหาร "ยุบพรรค" ไม้ตายพิฆาต เพื่อไทย"

23 สิงหาคม 2561

ทันทีที่เสียงระฆังเลือกตั้งดังขึ้น แน่นอนว่าประเด็นการยุบพรรคการเมืองจะถูกหยิบขึ้นมาท้าทายพรรคเพื่อไทยแน่นอน

ทันทีที่เสียงระฆังเลือกตั้งดังขึ้น แน่นอนว่าประเด็นการยุบพรรคการเมืองจะถูกหยิบขึ้นมาท้าทายพรรคเพื่อไทยแน่นอน

**********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 5 คนอย่างเป็นทางการ จะพบว่าการเมืองเริ่มมีความชัดเจนเป็นระยะ

โดยเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้ง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ซึ่งสอดรับกับผลการประชุมร่วมกันระหว่าง กกต.และรัฐบาลก่อนหน้านี้

“ยืนยันว่าจะพยายามให้มีการเลือกตั้ง สส.ภายในเดือน ก.พ. 2562 แต่ถ้ามันทำไม่ได้ตามนั้น จึงจะมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น ส่วนการผ่อนปรนหรือผ่อนคลายล็อกทางการเมืองนั้น ในเดือน ก.ย.จะมีมาตรการปลดล็อกบางเรื่องให้พรรคการเมืองและ กกต.สามารถดำเนินการได้” คำยืนยันจากนายกฯ

ต้องยอมรับว่าเหตุหนึ่งที่รัฐบาลต้องออกมายืนยันความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นเพราะต้องการลดกระแสต่อต้านที่เข้ามากดดันรัฐบาลและ คสช.เป็นระยะ

การทำงานตลอด 4 ปีของ คสช.กำลังกลายเป็นปัญหาที่จะมาพันตัวเอง ภายหลังผลงานของรัฐบาลหลายเรื่องยังไม่เข้าเป้าและเข้าตาประชาชนมากนัก ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนักที่ระบุตรงกันว่าต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า ประกอบกับจังหวะที่กำลังมีการดูดอดีต สส.เพื่อมาเป็นฐานสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพยายามหาเครื่องมือทางการเมืองอะไรก็ได้ในการเข้ามาช่วยลดแรงเสียดทาน เพื่อไม่ให้กระทบคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะยาว

การประกาศเรื่องกำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้ง จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ว่านั้น

เส้นทางการเมืองจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง แน่นอนว่าย่อมมีสถานการณ์และเหตุการณ์ที่จะเป็นปัจจัยทางการเมือง เช่น ความชัดเจนเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต ซึ่งทุกพรรคการเมืองต่างพยายามส่งสัญญาณกดดันให้ คสช.เข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทำไพรมารีโหวตเป็นรายภาคหรือชะลอการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและอาจมีผลอย่างมหาศาลในทางการเมือง คือ การยุบพรรคการเมือง ในประเด็นนี้เริ่มมีคนของพรรคเพื่อไทยจุดประเด็นเพื่อดักทางให้เห็นกันบ้างแล้ว

“บทบาทของพรรคการเมืองต่อการแก้ปัญหาเรื่องถูกจำกัดสิทธิหรือโอกาสทางการเมืองนั้น คิดว่าทุกพรรคต้องมีหลักการร่วมกัน คือ ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม
ไม่ใช้วิธีสกปรก เช่น ยุบพรรค แจกใบแดง หรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงทุกพรรคต้องร่วมกันแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ขัตติยา สวัสดิผล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุ

ประเด็นเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นเริ่มมีการพูดถึงกันมาบ้าง นับตั้งแต่ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง พร้อมกับมีความเคลื่อนไหวของอดีต สส.พรรคเพื่อไทยหลายคนเดินทางไปพบที่ต่างประเทศ ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดที่มีโทษถึงยุบพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

โดยมาตรา 28 ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

การทำผิดตามมาตรา 28 จะมีโทษถึงยุบพรรคการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบตามมาตรา 28 ซึ่งเดิมทีในอดีตพรรค
เพื่อไทยเคยถูกตรวจสอบเกี่ยวกับกรณีการมีตัวแทนเชิดมาแล้ว แต่ กกต.ในขณะนั้นมีความเห็นให้ยกข้อหาดังกล่าวไป เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บัญญัติครอบคลุมในเรื่องดังกล่าว

แต่ในปัจจุบันกฎหมายพรรคการเมืองครอบคลุมไปถึงเรื่องนอมินีเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการขยับตัวของทักษิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมมีผลต่อพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้การใช้ทักษิณเป็นธงนำในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อย่าง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” คงดำเนินการได้ลำบาก

ไม่เพียงเท่านี้ ผลของการยุบพรรคนั้นมีผลสาหัสพอสมควร เพราะการตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนในอดีต ทั้งในเรื่องการหาสมาชิกพรรค การชำระค่าสมาชิก หรือเงินทุนประเดิมของพรรค

ยิ่งไปกว่านั้น หากกฎหมายพรรคการเมืองยังคงมาตรการทำไพรมารีโหวตเอาไว้ และเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคกลางสนาม ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เท่ากับว่าโอกาสที่ผู้สมัคร สส.จะหาพรรคสังกัดใหม่ก็อาจจะไม่ทัน เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวตก่อนส่งผู้สมัคร สส.

แม้ชนวนเหตุของการยุบพรรคการเมืองจะยังไม่เป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ แต่ทันทีที่เสียงระฆังเลือกตั้งดังเมื่อไหร่ แน่นอนว่าประเด็นการยุบพรรคการเมืองจะถูกหยิบขึ้นมาท้าทายพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน