posttoday

โรดแมปขยับยาก เลือกตั้งมาตามนัด

21 สิงหาคม 2561

ภาพรวมสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ พอสรุปได้ว่าการเลือกตั้งน่าจะมาตามนัด เว้นเสียแต่ คสช.จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า

ภาพรวมสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ พอสรุปได้ว่าการเลือกตั้งน่าจะมาตามนัด เว้นเสียแต่ คสช.จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 5 คนที่นำโดย “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าการเมืองกลับมามีความเคลื่อนไหวทันตา ภายหลัง กกต.ได้ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการได้มาซึ่ง สว.ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลักๆ ที่ กกต.มีการติวเข้มกันนั้นส่วนใหญ่จะหนักไปในเรื่องของการเลือกตั้ง สส. ไม่ว่าจะเป็น “การแบ่งเขตเลือกตั้ง สส.” ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองกำลังจับตาอย่างเข้มข้น เนื่องจากมีส่วนได้เสียต่อพรรคการเมืองโดยตรง โดยจะเป็นแผนที่ทางการเมืองของพรรคการเมืองว่าแต่ละจังหวัดจะมี สส.เท่าใด เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการหาเสียง หรือจะเป็น “การทำไพรมารีโหวต”อันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองก็กำลังปวดหัวอยู่เช่นกัน เป็นเพราะเวลานี้ คสช.เองยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมได้เต็มที่

ส่วนการดำเนินกระบวนการในการได้มาซึ่ง สว. ทาง กกต.ยังไม่ได้เน้นอะไรเป็นพิเศษ เพราะด้วยตัวระบบของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.และรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คสช.เข้ามาคัดเลือก สว.เข้าสภาในขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้น หน้าที่ของ กกต.ต่อเรื่องนี้ จึงมีเพียงแค่การทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้ผู้สมัคร สว.ตุกติกเท่านั้น เพื่อนำบัญชีรายชื่อที่ผู้สมัคร สว.เลือกได้กันเองไปให้ คสช.คัดอีกครั้ง ไม่ได้มีงานยุ่งยากมากนักเมื่อเทียบกับการจัดการเลือกตั้ง สส.

แต่ความเคลื่อนไหวของ กกต.ที่ทำให้หลายฝ่ายต่างหูผึ่ง คือ การประกาศวันลงคะแนนเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562

“การเลือกตั้ง สส.คาดว่าจะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สส. วันที่ 4 ม.ค. 2562 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 จากการพูดคุยกับ คสช.ที่ผ่านมา ขอให้เราแบ่งเขต 60 วัน ทำไพรมารีโหวต 30 วัน

การแบ่งเขตทุกจังหวัดเตรียมการไว้เบื้องต้นแล้ว แต่เป็นการแบ่งตามจำนวนราษฎรเมื่อปี 2559 ขณะนี้กรมการปกครองได้ประกาศจำนวนราษฎรปี 2560 แล้ว จึงขอให้ทุกจังหวัดกลับไปพิจารณาเรื่องแบ่งเขตให้สอดคล้องกับจำนวนราษฎรที่มีการประกาศใหม่” เป็นปฏิทินที่ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ระบุ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น คสช.หรือแม้แต่ กกต.ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าวันที่ 24 ก.พ. 2562 ยังไม่ใช่วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามวันดังกล่าว โดยเฉพาะการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม

แต่กระนั้น ถ้าจะนับนิ้วมือเพื่อคำนวณวันเลือกตั้งกันจริงๆ ต้องยอมรับว่าวันเลือกตั้งจะอยู่ในกรอบช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562

กล่าวคือ หากช่วงกลางเดือน ก.ย. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาจะเริ่มนับวันเลือกตั้งภายใต้สูตร “90+150=วันเลือกตั้ง” ทันที โดยเมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องรอเวลาอีก 90 วันเพื่อให้กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับสมบูรณ์ 100% จากนั้นจะเริ่มนับไปอีก 150 วันเพื่อเป็นวันที่ประชาชนจะถือบัตรประชาชนเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง

จากตัวเลขดังกล่าวเมื่อนำมาคิดแล้วจะประมาณ 240 วัน หรือราว 8 เดือน ซึ่งจะไปอยู่ที่เดือน พ.ค. 2562 ดังนั้น หากกฎหมายประกาศใช้เมื่อไหร่ โรดแมปเลือกตั้งน่าจะเป็นไปตามนี้

ทว่า การเลือกตั้งที่ว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการขันหมากรอเก้อได้เช่นกัน

สถานการณ์การเมืองในเวลานี้มีการแบ่งทางความคิดออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายอยากให้เลือกตั้ง และ 2.ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งในขณะนี้ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างอ้างเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตัวเอง

ฝ่ายอยากเลือกตั้ง มองว่าถึงเวลาที่ต้องคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย เพื่อไม่ให้ต่างชาติใช้เงื่อนไขความไม่เป็นประชาธิปไตยมากดดันทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย ส่วนอีกฝ่ายยังไม่ต้องการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความสงบทางการเมืองอย่างแท้จริง

เมื่อโฟกัสไปที่ คสช.แล้วจะพบว่า คสช.ให้น้ำหนักกับความสงบพอสมควร ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.หลายครั้งในทำนองว่ายินดีจะให้ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของความสงบ

แต่กระนั้น ถ้า คสช.อยากจะเลื่อนเลือกตั้งจริงๆ ก็ทำได้ โดยแค่เพียงใช้มาตรา 44 หรือให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง สส. เพื่อยืดเวลาการให้มีผลใช้บังคับเพิ่มเติมออกไปอีก จากเดิมที่กำหนดไว้ 90 วัน

การแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับ คสช. เพราะ สนช.ก็พร้อมจะสนองรับความต้องการของ คสช. แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเดียว

ส่วนความชอบธรรมทางการเมืองนั้นภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ คสช.อาจมีไม่มากพอที่จะทำเรื่องใหญ่อย่างนั้น เพราะเพียงแค่ สนช.จะแก้ไขกฎหมาย กกต.ของ สนช.ยังล่มไม่เป็นท่า ภายหลังเจอแรงต้านหนัก คงไม่ต้องบอกว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งแล้ว คสช.จะเจออะไรบ้าง

ที่สุดแล้ว การเลือกตั้งน่าจะมาตามนัด เว้นเสียแต่ คสช.จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า