posttoday

พรบ.สส.-สว. ด่านสุดท้ายชี้ขาดเลือกตั้ง

23 พฤษภาคม 2561

ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับคำวินิจฉัย ศาลรธน.ที่จะพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และ พ.ร.บ.ประกอบรธน.ด้วยการได้มาซึ่ง สว. จะมีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ที่จะพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จะมีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น 

ยังไม่รวมกับกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตราหรือไม่

แน่นอนว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญกระบวนการทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปตามโรดแมป เตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นใน 150 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่ง​คำนวณตามปฏิทินแล้วน่าจะเกิดขึ้นประมาณเดือน ก.พ. 2562 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจนต้องกลับมาสู่กระบวนการแก้ไขที่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหนและจะกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งที่วางไว้เพียงใด ​

ล่าสุด มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเมินสถานการณ์ว่า กรณีหากศาลบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องมาดูว่าขัดในสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ตกทั้งฉบับหรือไม่ 

1.หากไม่ขัดในสาระสำคัญ เพียงแค่ให้ตัดเฉพาะมาตรานั้นออก และสามารถใช้กฎหมายได้

2.หากขัดในสาระสำคัญจนทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไปต้องนำกลับมายกร่างใหม่

ในแง่ระยะเวลาการดำเนินการนั้น กรธ.ประเมินว่า การร่างใหม่​คงจะใช้เวลาประชุมเพียงครั้งเดียวแก้เพียง 2-3 มาตรา จากนั้นสามารถส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพิจารณาของ สนช.นั้น อาจจะใช้กรรมาธิการเต็มสภา 3 วาระรวดได้ ​

สรุปแล้วหากเร่งพิจารณาสามารถดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์รวมขั้นตอนของ กรธ.และ สนช.

“ในส่วนของ กรธ.คิดว่าไม่น่าจะนาน จะใช้เวลาอย่างมากสัปดาห์เดียว แต่ในส่วนของ สนช.เราคงเดาใจเขาไม่ได้” สัญญาณจากมีชัยนั้นก็ยังเปิดช่องแสดงอาการไม่มั่นใจในกระบวนการในส่วนของ สนช.ว่าจะเร่งดำเนินการพิจารณาให้เสร็จเร็ว เพื่อไม่กระทบกับ​โรดแมปเลือกตั้งหรือไม่

อีกทั้งที่ผ่านมากระแสข่าวเรื่องความพยายามคว่ำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในชั้น สนช. เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปก็มีมาให้ได้ยินเรื่อยๆ 

ท่ามกลางความเป็นห่วงว่าในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดการยื้อเลือกตั้งในก๊อกสองได้

แม้ทางรัฐบาล คสช.จะออกมาชี้แจงตั้งแต่ช่วง สนช.เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ​ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรไม่มีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป 

หากพิจารณารายฉบับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ประเด็นปัญหาอยู่ตรงการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสมัครอิสระและการแนะนำจากองค์กรไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียม และไม่ได้กำหนดให้แยกประเภท

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.นั้น มีปัญหาตรง​ประเด็นการตัดสิทธิคนไม่เลือกตั้งไม่ให้เป็นข้าราชการการเมือง​ที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ​และกรณี​การให้บุคคลอื่น​ลงคะแนนแทนผู้พิการอันอาจไม่เป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ ​​

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ อันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางอนาคตการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ในวันที่หลายฝ่ายยังไม่ปักใจเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในเดือน ก.พ. 2562

สอดรับไปกับการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ใช้โอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ต่อเนื่องกับวันที่ 23 พ.ค. ตามกำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มเห็นสัญญาณความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงได้ตามโรดแมปหรือไม่