posttoday

ปูพรมต่อสายการเมือง คสช.ปูทาง สร้างอนาคต

14 พฤษภาคม 2561

ประเมินได้ว่านับจากนี้รัฐบาลคสช.จะลงพื้นที่ไปตามฐานที่มั่นของกลุ่มการเมืองต่างๆ หนักขึ้น เพื่อต่อสายสร้างสัมพันธ์สำหรับอนาคตทางการเมือง

ประเมินได้ว่านับจากนี้รัฐบาลคสช.จะลงพื้นที่​ไปตามฐานที่มั่นของกลุ่มการเมืองต่างๆ หนักขึ้น เพื่อต่อสายสร้างสัมพันธ์สำหรับอนาคตทางการเมือง

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปิดฉากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.บุรีรัมย์ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไปแบบชื่นมื่น ท่ามกลางการจับจ้องจากสังคมว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตทางการเมืองต่อไป

แต่ที่แน่ๆ จากการประชุม ครม.​ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติโครงการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจำนวน 20 โครงการ วงเงิน 3,476 ​ล้านบาท ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ

รวมทั้งยังเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนา กลุ่มภาคอีสานตอนล่างทั้งหมด 5 ด้าน วงเงิน 20,706 ล้านบาท โดยเห็นชอบโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามความต้องการ เช่น การพัฒนาด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจำนวน 84 โครงการ 3,476 ล้านบาท ทำได้ทันที 40 โครงการ วงเงิน 1,015 ล้านบาท และอีก 44 โครงการ วงเงิน 2,641 ล้านบาท จะนำเข้าสู่แผนปี 2562-2564 ต่อไป

ยังไม่รวมกับแผนพัฒนาถนนและขยายสนามบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางการชมการแข่งขันโมโตจีพีที่ถือเป็นอีกโครงการใหญ่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

การอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่อีสานใต้รอบนี้ร่วม 2 หมื่นล้านบาท จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองใดๆ แอบแฝงอยู่หรือไม่ สอดรับกับการเตรียมผันตัวลงสนามการเมืองของ คสช.

เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐที่มีกระแสข่าวว่าคนในรัฐบาล คสช.เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่เดินหน้าสู่เป้าหมายผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ​กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 2 เพื่อสานต่อภารกิจที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ​

แต่ถึงจะมีอำนาจในมือและความได้เปรียบอื่นๆ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายโดยเฉพาะกับการต้องลงสนามแข่งขันกับพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีฐานเสียงของตัวเองชัดเจนต่อให้เส้นทางที่ง่ายที่สุดคือ การใช้ช่องทาง “นายกรัฐมนตรีคนใน”​​​ ก็ยังต้องออกแรงพอสมควร

แม้ คสช.จะมี 250 เสียงของ สว.ชุดเฉพาะกาลตุนไว้ในกระเป๋า ซึ่งรวมกับเสียง สส.แค่ 126 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดความเป็นเอกภาพ หรือมีเสถียรภาพในการบริหารงานต่อจากนั้น เพราะ 250 เสียงของ สว.​ไม่ได้มาร่วมเป็นรัฐบาล

การหาพันธมิตรทางการเมืองเพื่อประคับประคองรัฐนาวาในอนาคตต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

นอกจากปฏิบัติการ “ดูด” ที่ถูกถล่มว่าสวนทางกับการปฏิรูปด้วยการไปดึง สส.มาร่วมเป็นขุมกำลังผ่านการเสนอตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังชลที่ดึงพี่น้องสนธยาและอิทธิพล คุณปลื้ม มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือดึง สกลธี ภัททิยกุล อดีต สส.กทม. ประชาธิปัตย์มารับตำแหน่งรองผู้ว่า กทม.

อีกด้านหนึ่งยังเห็นปรากฏการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายลงพื้นที่ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง พบปะกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการจัดประชุม ครม.สัญจร เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องและพิจารณาให้ความช่วยเหลือตรงตามที่ต้องการต่อไป

ดังจะเห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีการจัดประชุม ครม.นอกสถานที่ไปแล้ว 9 ครั้ง ​เริ่มตั้งแต่นัดแรกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 27-28 มี.ค. 2558 ต่อด้วย ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29-30 มิ.ย. 2558 และ ​จ.นครราชสีมา ณ วันที่ 21-22 ส.ค. 2560

จะเห็นว่าการเลือกลงพื้นที่ ครม.สัญจรแต่ละครั้งจะถูกมองว่ามีเรื่องของฐานการเมืองในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งจะตามมาด้วยการอัดฉีดมัดเงินลงพื้นที่ เช่น โคราช ที่มีฐาน สส.หลายพรรคหลายที่นั่งได้รับการจัดสรรงบทั้งโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายปางปะอิน-นครราชสีมา (M6) 33,258 ล้านบาท และเห็นชอบร่างสัญญาการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design Services Agreement) โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ในวงเงินค่าจ้าง 1,706 ล้านบาท

ถัดมาที่ จ.สุพรรณบุรี อีกฐานเสียงสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา ​ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกพรรคใหญ่ดึงไปช่วยค้ำยันเสถียรภาพ

ไม่ต่างจาก จ.สุโขทัย อีกฐานที่มั่นของกลุ่มมัชฌิมาของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งการประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค. 2560 ครม.ได้อนุมัติทั้งโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากเกือบ 2,000 ล้านบาท และโครงการรับทราบ​แผนท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์และเมืองบริวาร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ปี 2561-2564 งบประมาณ 1,115 ล้านบาท

ไปจนถึงการเห็นชอบแผน “มหานครผลไม้ของโลก” พร้อมอนุมัติหลักการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) ในการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 5-6 ก.พ. 2561

อีกด้านไม่ใช่ ครม.สัญจร แต่กำหนดการถัดไปถูกวางไว้จนรู้กันทั่วว่านายกฯ จะมาเยี่ยมเยือน จ.สระแก้ว ฐานที่มั่นของตระกูลเทียนทอง ซึ่งก่อนหน้านี้ เสนาะ เทียนทอง แกนนำเพื่อไทย เคยออกมาจุดประเด็นเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ

แม้นายกฯ จะปิดปากไม่บอกชัดเจนจะเดินทางไปด้วยตนเองหรือไม่ แต่การเตรียมการระดับจังหวัดก็จัดเตรียมมวลชนไว้คอยท่า ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ หรือระดับรองนายกฯ เดินทางมาเป็นประธานเปิดด่านผ่านแดนถาวร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลงพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

แถมแว่วว่าต่อไปมีแผนจะกลับไปซ้ำที่ จ.เชียงใหม่ ฐานที่มั่นของตระกูลชินวัตรอีกรอบ คล้อยหลังจากวันที่พี่น้อง อดีตนายกฯ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บินมาสิงคโปร์เพื่อ​เปิดให้อดีตรัฐมนตรีและ สส.เพื่อไทย ได้พบปะพูดคุยหลังเก็บเนื้อเก็บตัวมานาน ​

ประเมินแล้วนับจากนี้ไปรัฐบาล คสช.คงจะลงพื้นที่​ไปตามฐานที่มั่นของกลุ่มการเมืองต่างๆ หนักขึ้น เพื่อต่อสายสร้างสัมพันธ์ไว้สำหรับอนาคตทางการเมืองต่อไป