posttoday

ทุจริต-มาเฟีย ระเบิดเวลากัดกร่อน คสช.

11 พฤษภาคม 2561

กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังย้อนกลับมากัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐบาลเมื่อ พ.ต.ท.สันธนะ บุกทำเนียบฯ​ขอพบ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นเอกสารหลักฐานสำคัญที่พบว่าบุคคลในรัฐบาลเกี่ยวพันทุจริต

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังย้อนกลับมากัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ​เมื่อ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรอง ผกก.สันติบาล บุกทำเนียบรัฐบาล​ขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นเอกสารหลักฐานสำคัญที่พบว่าบุคคลในรัฐบาลเกี่ยวพันกับการทุจริต

แม้สุดท้าย พ.ต.ท.สันธนะ ซึ่งยืนยันจะไม่ยื่นเรื่องผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่จะรอให้นายกฯ ส่งเจ้าหน้าที่ทหารที่ไว้ใจได้มารับหนังสือ ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า เพราะนายกฯ ​ไม่ได้ส่งทหารมารับหนังสืออย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

ก่อนจะ​ยื่นข้อเสนอใหม่ด้วยการขอให้นายกฯ ส่งทหาร 2 นาย รถ 1 คัน และคนติดตาม 5 คน ไปนำเอกสารลับดังกล่าวมาให้นายกฯ เพราะไม่ได้นำติดตัวมาด้วย ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบสนองเช่นกัน 

ด้านหนึ่งอาจจะมองได้ว่าการโยนระเบิดเวลาลูกนี้ใส่รัฐบาล คสช.เป็นเพียงแค่การแก้เกี้ยวเพื่อตอบโต้กลับหลังถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นตลาดใหม่ดอนเมือง ตามปฏิบัติการกวาดล้างสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นแหล่งขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารเสริม เจ้าใหญ่ ซึ่ง พ.ต.ท.สันธนะ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการตลาดฯ 

จากการตรวจค้น​พบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีหมายเลขกำกับ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นับแสนรายการ รวมมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ​

ครั้งนั้น ​พ.ต.ท.สันธนะ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ตำรวจบุกมาตรวจค้นตลาดใหม่ดอนเมือง น่าจะเป็นเพราะมีใบสั่งทหารคนหนึ่งในรัฐบาลให้มาจัดการกับตนเอง เพราะไม่พอใจที่​ตัวเขาไปรู้ความลับบางอย่าง

ทว่า คนในรัฐบาลดูจะไม่ตระหนกกับเรื่องที่เกิดขึ้นเท่าไรนัก ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ​ที่โยนให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมย้อนถามว่าเป็นรัฐมนตรีคนใดที่สั่งการ เป็นตนหรือไง จะไปสั่งได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังยืนยัน ส่วนตัวไม่ได้รู้จัก พ.ต.ท.สันธนะ โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่ามีหลักฐานอะไรที่จะเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ ส่วนเรื่องความลับที่จะออกมาแฉนั้น ขอให้ระบุออกมาเลย ว่าเป็นบุคคลใด อย่ามาพูดลอยๆ 

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศว่า ส่วนตัวรับไม่ได้กับพฤติกรรมของ พ.ต.ท.สันธนะ “ผมว่าเขาคงไม่ใช่อดีตตำรวจหรอก ผมคิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้ ผมรับไม่ได้ ตำรวจเองก็รับไม่ได้” ส่วนข้อมูลที่ระบุถึงนั้น หากมีขอให้ส่งเข้ามา ซึ่งจะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและชี้แจง

​แม้จะยังไม่มีรายละเอียดและความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทุจริตของคนในรัฐบาล แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล คสช.​ไม่น้อย เพราะเรื่องทำนองนี้เคยมีระแคะระคายอยู่เป็นระยะ 

พันธกิจของรัฐบาล คสช.​ที่เคยประกาศจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จนกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเอาจริงเอาจังอย่างที่สังคมคาดหวัง ยิ่งหลายเรื่อง ที่เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาล หรือ คสช.​ด้วยแล้ว ยิ่งกลับไม่เห็นความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

จากก่อนหน้านี้ที่มีความพยายามระดมสมองออกแบบกลไก แก้ไขกฎหมาย วางระบบให้เกิดความคล่องตัวกับการสกัดการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว ขณะที่การเร่งปราบปรามให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อวางเป็นบรรทัดฐานกลับไม่เกิดขึ้น​ 

ไม่ต่างจากการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่เป็นอีกหนึ่งในผลงานสำคัญที่สร้างคะแนนนิยมให้รัฐบาล คสช.​เป็นอย่างมากในช่วงแรกหลังรัฐประหาร ยิ่งเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างรัฐบาล คสช.ด้วยแล้ว 

​ดังจะเห็นว่านโยบายปราบปราม ผู้มีอิทธิพลถูกกวดขันเอาจริงเอาจังไปยังแต่ละพื้นที่ ทั้งการจัดทำรายชื่อผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่นแล้ว จากหน่วยงานความมั่นคง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีการนำมาคัดกรองและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและ คสช. 

ในครั้งนั้นมีความชัดเจนกับการกำหนดกรอบกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง 16 กลุ่ม ทั้ง 1.นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ 2.ฮั้วประมูลงานราชการ 3.หักหัวคิวรถรับจ้าง 4.ขูดรีดผู้ประกอบการ 5.ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี 6.เปิดบ่อนการพนัน 7.ลักลอบค้าประเวณี 8.ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย

9.ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 10.แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว 11.มือปืนรับจ้าง 12.รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 13.ลักลอบค้าอาวุธสงคราม/ปืนเถื่อน 14.บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 15.เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ 16.ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ทว่า ระยะหลังข่าวคราวของการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลดูจะเงียบไป และเริ่มปรากฏข่าวผู้มีอิทธิพลที่ถูกโยงใยว่าเป็นคนมีสี ตำแหน่งหน้าที่ ยากจะเข้าไปควบคุมดูแลได้เหมือน ที่ผ่านมา

ทั้งเรื่องทุจริตซึ่งโยงใยต่อเนื่อง มาจนถึงเรื่องผู้มีอิทธิพลที่กำลังเพิ่มขึ้น ย่อมมีแต่จะกัดเซาะความเชื่อมั่นของ คสช.ให้ลดน้อยลงไป และย้อนกลับมาสร้างปัญหาในอนาคต