posttoday

โค้งสุดท้ายปฏิรูปตำรวจ เดิมพันสำคัญ คสช. 

10 พฤษภาคม 2561

เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญกับกระบวนการปฏิรูปตำรวจ ในวันที่หน้าที่สำคัญถูกถ่ายโอนมาอยู่ในมือคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญกับกระบวนการปฏิรูปตำรวจ ในวันที่หน้าที่สำคัญถูกถ่ายโอนมาอยู่ในมือ คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธาน ท่ามกลางความคาดหวังจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จลุล่วงตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

หลังจาก 4 ปีที่ผ่านมาความพยายามของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน 

ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดลำดับความสำคัญไว้เป็นงานแรกๆ ตามเสียงสะท้อนที่เห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสีกากี อันเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของประชาชน

หากจำได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยสั่งการด้วยลายลักษณ์อักษร 13 หน้ากระดาษ ให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การปฏิรูปองค์กร ที่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงใด 2.กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย ต้องไปดูกฎหมายที่ตำรวจใช้ในการทำงาน เรื่องการสอบสวน พิสูจน์หลักฐานที่มีปัญหาอยู่เดิม และ 3.เป็นเรื่องของบุคลากรที่จะดูแลตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างไรให้ขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียม ดูแลในเรื่องของงบประมาณใช้จ่ายต่างๆ ถ้าจัด
งบประมาณให้เหมาะสม ตำรวจก็ไม่ได้หาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

แต่ในทางปฏิบัติเรื่องปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับการเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ตลอดจนอำนาจหน้าที่ในองค์กรที่มีความแข็งแรง และยังเชื่อมโยงกับขั้วอำนาจทางการเมือง 

การคิดจะเข้าไปปรับเปลี่ยนใดๆ ย่อมเกิดแรงต่อต้านไม่ยอมรับจากบรรดาบิ๊กสีกากี ซึ่งไม่ต้องการให้อำนาจในมือต้องได้รับผลกระทบไปกับการปฏิรูป ที่สำคัญ บรรดากลไกที่แต่งตั้งมารับหน้าที่ปฏิรูป จะเข้าไปปฏิรูปล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับทางบิ๊กตำรวจจนเกิดการเกรงอกเกรงใจไม่กล้าปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย

กลไกสำคัญ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาดำเนินการรให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (6 เม.ย. 2560) พร้อมระบุว่าเมื่อครบกำหนดเวลา ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโส 

ภายหลังการดำเนินการครบ 1 ปี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ แถลงสรุปผลการปฏิรูปตำรวจว่า เรื่องหลักคือการแต่งตั้ง ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญไปสู่การแก้ไขปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง ตลอดจนการเข้ามาแทรกแซงครอบงำจากฝ่ายการเมือง 

ข้อสรุปคือ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม 1-3 รายชื่อให้ ก.ตร. พิจารณาโดยองค์ประกอบ ก.ตร.เปลี่ยนแปลงจากเดิมมี ผบ.ตร.เป็นประธาน แล้ว ก.ตร.จะคัดเลือกจากรายชื่อที่ ผบ.ตร.เสนอออกมาเพียงคนเดียว แล้ว ผบ.ตร.จะเสนอคนที่เหมาะเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ

ขณะที่ ก.ต.ช.ยังมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ไม่มีบทบาทในการ แต่งตั้งโยกย้าย องค์ประกอบปรับปรุงใหม่ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายให้กระจายอำนาจการแต่งตั้งไปยังกองบัญชาการต่างๆ อาทิ บช.1-9 บช.น. ตชด. ฯลฯ ที่เหลือเป็นอำนาจ ผบ.ตร.

จนมาถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ที่ดูจะเป็นเนื้อเป็นหนังกว่าทุกชุด เริ่มตั้งแต่การกำหนดภารกิจตำรวจเป็น 4 แท่งภารกิจ คือ 1.งานสอบสวนทำสำนวนคดี 2.งานป้องกันปราบปรามการทุจริต 3.งานเทคนิควิชาการ และ 4.งานบริหารและอำนวยการ

แถมมีแนวคิดรื้อโครงสร้างโดยการเห็นควรให้ยุบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และโอนภารกิจไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยให้ ก.ตร.ทำหน้าที่กำกับนโยบาย และวางหลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจที่ชัดเจน ใช้หลักอาวุโส 50% ผลงาน 30% และความพึงพอใจของประชาชน 20% โดย ก.ตร.จะพิจารณาเลือก ผบ.ตร.เองตำแหน่งเดียว

พร้อมเพิ่มคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค. ตร.) ขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายผิดหลักเกณฑ์แก่บรรดาข้าราชการตำรวจ หากผู้ร้องไม่พอใจคำวินิจฉัย สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้ต่อไป

ที่สำคัญยังเตรียมโยกหน่วยงานทั้งด้านอำนวยความสะดวกด้านการจราจร งานกวดขันวินัยจราจร งานบังคับใช้กฎหมายจราจร เฉพาะความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ภายใต้กรอบเวลา 2 ปี ส่วนตำรวจรถไฟให้โอนภารกิจไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือหน่วยงานอื่นที่เป็นเจ้าของรถไฟ

จากนี้จึงต้องจับตารอดูกฎหมายที่จะออกมาว่ามีเนื้อหารายละเอียดอย่างไร ยังไม่รวมกับการต้องรอดูว่าเนื้อหาเหล่านี้จะถูกปรับแก้ไข ในชั้น ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะแรงกดดันจากบรรดาบิ๊กตำรวจที่สามารถต่อสายตรง ถึงบิ๊ก คสช. และยังอาจเข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาของ สนช.

เส้นทางปฏิรูปตำรวจนับจากนี้จึงเปราะบางและไม่รู้ว่านี่จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ คสช.ได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่