posttoday

เมินบิ๊กตู่-ไม่เอาทักษิณ ปชป.เดดล็อกตัวเอง

03 เมษายน 2561

“ใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะ ถ้าจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค "

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

“ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะ ถ้าจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม” 

สัญญาณชัดเจนครั้งแรกจากปาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับการยืนยันจุดยืนของพรรคแบบดุเดือด ซึ่งต้องการสะท้อนความชัดเจนในแนวทางของประชาธิปัตย์นับจากนี้ต่อไป 

การ “หงายไพ่” ใบสำคัญของประชาธิปัตย์ในช่วงเวลานี้ ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่หนึ่งในยุทธศาสตร์หาเสียงที่สร้างความชัดเจนให้ตัวเองไม่ให้ความคลุมเครือที่เป็นอยู่ถูกบิดเบือนไปแย่งคะแนนเสียง

แน่นอนว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ระหองระแหง รอยร้าวระหว่างประชาธิปัตย์และ กปปส.ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องกระชับแนวร่วมสร้างความเป็นเอกภาพ เพื่อเร่งทำคะแนนในการเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นอีก “โอกาส” ครั้งสำคัญ 

เมื่อเวลานี้คู่แข่งคนสำคัญอย่าง “เพื่อไทย” กำลังระส่ำระสายจากแกนนำที่ต้องระหกระเหินหนีคดีอยู่ต่างแดน  ขณะที่กลุ่มต่างๆ กำลังชั่งใจว่าจะแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อลดแรงเสียดทานแรงกดดันจากฝั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ 

ประชาธิปัตย์จึงต้องเร่งสร้างความชัดเจนในพื้นที่ ทั้งในแง่ผู้สมัคร สส. หัวคะแนน เรื่อยไปจนถึงสมาชิกพรรค ว่าจะยังเหนียวแน่นอยู่กับประชาธิปัตย์ หรือจะหันไปหาตัวเลือกใหม่อย่างพรรค กปปส. ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ประกาศไม่เกี่ยวข้อง แต่ทาง ธานี เทือกสุบรรณ น้องชาย เตรียมยื่นจดแจ้งกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจัดตั้งพรรค 

ดังจะเห็นในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ หลายพื้นที่ในภาคใต้เกิดการแย่งตัวหัวคะแนนและสมาชิกระหว่างประชาธิปัตย์และ กปปส. ที่หากปล่อยไว้เช่นนี้ย่อมมีแต่จะต้องมาแบ่งคะแนนกันเอง สุ่มเสี่ยงจะเปิดทางให้คู่ต่อสู้เข้ามาเบียดแย่งปักธงในฐานที่มั่นได้ง่าย 

การรีบประกาศจุดยืนให้ชัดเจนจึงถือเป็นการบีบให้ สส.ตลอดจนทีมงานต้องตัดสินใจว่าจะเลือกสวมเสื้อประชาธิปัตย์ หรือ กปปส.ลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งล่าสุด อภิสิทธิ์ประกาศว่า
นอกจากสุเทพและธานีแล้วไม่มีอดีต สส.คนอื่นมาบอกว่าจะไม่มาร่วมงานกับพรรค สอดรับกับที่แกนนำ กปปส.หลายคนเดินทางมายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเรียบร้อยแล้ว 

อีกด้านหนึ่งการส่งสัญญาณของอภิสิทธิ์ยังเป็นการประกาศจุดยืนให้ง่ายต่อการหาเสียงในพื้นที่ เพื่อไม่ทับซ้อนกับทาง กปปส.  แม้ทั้ังประชาธิปัตย์และ กปปส. ล้วนแต่มีจุดยืนไม่เอา “ระบอบทักษิณ” ด้วยกันทั้งคู่ หากจะหาเสียงแนวทางนี้ย่อมมีแต่จะต้องแบ่งคะแนนกัน

การประกาศไม่เอา คสช. จึงเป็นทางเลือกที่จะสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองทั้งในพื้นที่ และสร้างความแตกต่างสลัดภาพลักษณ์ที่อยู่ใต้ร่มเงาของทหารมาอย่างต่อเนื่องให้หมดไปในโอกาสนี้ด้วย 

ต้องยอมรับด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝั่งไม่เอาทักษิณและฝั่งไม่เอา คสช. ดังจะเห็นเค้าลางที่แต่ละฝ่ายเริ่มเปิดหน้าประกาศจุดยืนและแนวทางของตัวเอง

ต่างจากในอดีตที่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝั่งไม่ “สนับสนุน” และ “ต่อต้าน” ระบอบทักษิณ

แน่นอนหากประชาธิปัตย์ต้องเลือกจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้านหนึ่งย่อมกระทบกับจุดยืนความเป็นพรรคในกลไกตามระบอบประชาธิปไตย ฉุดให้ภาพลักษณ์เสียหาย

อีกด้านหนึ่งย่อมต้องไปแบ่งฐานคะแนนกับพรรคอื่นๆ ที่มีจำนวนไม่น้อย หลายพรรคที่เปิดหน้าเวลานี้ เริ่มประกาศความชัดเจนสนับสนุน คสช.ทั้งทางตรงและทางอ้อม   

การเลือกไม่สนับสนุน คสช. จึงอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาธิปัตย์ในสถานการณ์นี้

ยิ่งในวันที่คะแนนนิยมของ คสช.กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ จากมรสุมที่รุมเร้าซ้ำเติมผลงานการบริหารงานที่ไม่เข้าตาประชาชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

ผลโพลหลายสำนักสะท้อนตรงกันว่าทั้งความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมในตัว คสช.ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลต้องเร่งทำโครงการลดแลกแจกแถมลงพื้นที่เป็นการเร่งด่วน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศจุดยืนของประชาธิปัตย์ไม่เอา คสช. แม้จะเป็นการสร้างความชัดเจนในพื้นที่ แต่สุดท้ายก็ทำให้ตัวเองถูกโดดเดี่ยวจากฝั่งอื่นๆ ไปในตัว

สถานะของประชาธิปัตย์เวลานี้จึงตกอยู่ตรงกลางระหว่างฝั่ง  “ไม่เอาทักษิณ” และ “ไม่เอา คสช.” จนขยับลำบาก ทั้งในแง่หาเสียงปัจจุบันและการรวมตัวกันตั้งรัฐบาลในอนาคต

ประเมินตามทิศทางลมแล้วคงยากที่ประชาธิปัตย์จะสามารถได้เสียงถล่มทลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ การจะตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลด้วยตัวเลือกที่มีอยู่ระหว่าง คสช. และเพื่อไทยนั้นย่อมคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ยืนยันอยู่ฝั่งตรงข้ามกับระบอบทักษิณมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย คงยากจะไปจับมือร่วมเป็นรัฐบาลทำงานด้วยกันได้

ถึงจะประกาศไม่สนับสนุน คสช. แต่อภิสิทธิ์ก็เปิดทางโดยระบุว่า “ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลนั้น ต้องไปดูว่าทหารเข้ามาได้อย่างไรและมีกี่เสียง”

สถานการณ์ในเวลานี้ประชาธิปัตย์จึงเหมือนตกอยู่ในสภาพ “เดดล็อก” ขยับได้ยากลำบาก