posttoday

ดัชนีโปร่งใสกระเตื้อง แต่สนิมเนื้อในยังอยู่

23 กุมภาพันธ์ 2561

เวลานี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างแท้จริง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลานี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างแท้จริง

สถานการณ์ขาลงทางการเมืองจะว่าไปแล้ว เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานาน ตัวอย่างมีเห็นได้ชัดจากกรณีของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสามารถยืนหยัดท้าทายจนอยู่ครบ 4 ปี แต่พอเลือกตั้งและได้รับชัยชนะกลับมาเป็นรัฐบาลความนิยมของรัฐบาลเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือขึ้นมาทันที

หรือจะเป็นกรณีของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้จะอยู่ในอำนาจแค่ 2 ปี และเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการชนะเลือกตั้ง เพราะมาจากการรวบรวมเสียงในสภาได้มากที่สุด แต่ก็ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเริ่มมีปัญหาภายในรัฐบาลมากขึ้น จึงเลือกวิธีการยุบสภาด้วยหมายใจว่าจะชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้นก่อนที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะนำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล

ความเข้มแข็งของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลทักษิณในช่วงปี 2544 เป็นรัฐบาลที่มีเสียงในสภาแบบเด็ดขาด ทุกนโยบายของรัฐบาลเดินหน้าได้เต็มตัว แต่เมื่อการทุจริตเริ่มผุดออกมามากขึ้นโดยเฉพาะนโยบายการจำนำข้าว หรือแม้แต่การพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ส่งผลให้รัฐบาลของน้องสาวที่จะเดินตามรอยรัฐบาลของพี่ชายต้องสะดุดลงด้วยการรัฐประหารเหมือนกัน

มาถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ แทบจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับรัฐบาล "ทักษิณ-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์" ที่ตอนแรกได้รับความนิยม แต่พอยิ่งอยู่นานกลับยิ่งแย่ลงเป็นระยะ โดยมีปัจจัยมาจากปัญหาความไม่โปร่งใสเหมือนกัน

ตลอดเวลา 3 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าด้วย "รัฐบาลปลอดทุจริต" หลายกรรมหลายวาระ จนสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไปแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้โปร่งใสกว่ารัฐบาลของนักการเมือง และจะไม่ทำอะไรแบบที่รัฐบาลของนักการเมืองเคยทำ

แต่เมื่อเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แดงขึ้นมา ประกอบกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีในการออกมาปกป้องชัดเจน ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารที่เคยย้ำว่ามีความสุจริตนั้นแทบจะไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลของนักการเมือง

ภาวะขาลงของรัฐบาลยิ่งถูกย้ำแผลด้วยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) อยู่ที่ 52 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือน มิ.ย.ปีเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 53 โดยปรับลดลงทั้งดัชนีสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประมาณการว่า มูลค่าการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 5-15% ของงบประมาณ หรือ 6.62 หมื่นล้านบาท ถึง 1.98 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่ารัฐบาลได้กลับมาหายใจได้ทั่วท้องขึ้นเล็กน้อยอีกครั้ง เมื่อ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2560 ว่าประเทศไทยได้ 37คะแนน ดีขึ้นกว่าปีก่อน 2 คะแนน มีผลให้ขยับจากที่ 101 ขึ้นไปอยู่ที่ 96 จาก 180 ประเทศ

นับว่ารัฐบาลชุดนี้โชคดีอยู่บ้าง มิเช่นนั้นแล้วที่ยืนของรัฐบาลคงจะเหลือน้อยลงเข้าไปอีก หากจะบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่า CPI ของไทยดีขึ้นนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วิเคราะห์ว่ามีหลายปัจจัย

โดยหนึ่งในนั้นคือ กรณีสหภาพยุโรป (อียู) มีความสนใจฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยมีทิศทางปรับตัวในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน นักลงทุนต่างชาติมีทัศนคติดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก

กระนั้นใช่ว่า ค่า CPI ที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย จะช่วยพลิกสถานการณ์ของรัฐบาลให้กลับมาดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ เพราะเมื่อลงลึกในบทวิเคราะห์แล้วที่ ป.ป.ช.ระบุว่า ปัจจัยดัชนีบางตัวของไทยต่ำลงนั้นมาจาก เรื่องการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล การเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดี การจำกัดสิทธิสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นจุดอ่อน

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาความโปร่งใสภายในรัฐบาลเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากรัฐบาลต้องการให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลงและเพื่อให้รัฐบาลยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปในระยะเปลี่ยนผ่านได้

ทว่า มาถึงนาทีนี้ดูเหมือนรัฐบาลยังมิได้นำพาเท่าใดนัก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยรับถึงผลสำรวจที่ไม่เป็นคุณแก่รัฐบาลเท่าใด ดังจะเห็นได้จากการได้เรียกผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมาพบเพื่อสอบถาม

โดยจะว่าไปแล้วการกระทำแบบนี้คล้ายกับว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมพอสมควร ต้องไม่ลืมว่าการทำงานของมหาวิทยาลัยควรต้องอยู่ภายใต้เสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับสังคม แต่การทำเช่นนี้ของผู้นำรัฐบาลนอกจากจะเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าไม่ยอมรับแล้ว ยังเป็นการก้าวล่วงแดนเสรีภาพทางวิชาการด้วย

ดังนั้น เสียงเตือนที่ส่งมาถึงรัฐบาลจากหลายฝ่ายเป็นเสียงที่รัฐบาลควรใส่ใจฟังเป็นอย่างยิ่ง ควบคู่ไปกับการพยายามแก้ไขปัญหาความโปร่งใสของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมต่อสาธารณชน ไม่ใช่เพียงแค่อาศัยการพูดเสียงดังผ่านสื่อมวลชนไปวันๆ เท่านั้น

ทางออกมีให้เห็นแล้ว และไม่ได้มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง n