posttoday

สารพัดวิธีแก้จน หวังผลคะแนนนิยม

20 มกราคม 2561

นับแต่ "บิ๊กตู่" ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ท่ามกลางสปอตไลต์สาดส่อง "ว่าที่นายกฯ คนนอก"จึงน่าจับตาจากนี้ไปนโยบายรัฐบาลจะพุ่งเป้าวางรากฐานทางการเมืองเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้ง

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับแต่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ท่ามกลางสปอตไลต์สาดส่อง "ว่าที่นายกฯ คนนอก" จึงน่าจับตาจากนี้ไปนโยบายรัฐบาลจะพุ่งเป้าวางรากฐานทางการเมืองเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้ง

เพียงเริ่มศักราชปี 2561 "บิ๊กตู่" ทยอยหว่านโครงการและงบประมาณกว่าแสนล้านบาทมุ่งแก้ปัญหาความยากจน แน่นอนหวังเอาใจผู้มีรายได้น้อย หรือรากหญ้า ที่เป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง

รูปแบบการซื้อใจฐานเสียงคนจนยุค "บิ๊กตู่" ใช้นโยบาย "ประชารัฐ" ผนึกภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันทำงานสามารถดึงมหาเศรษฐีไทยอันดับต้นๆ ที่เป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่มาช่วยกัน ลงขันตั้ง "บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด" จำนวน 76 จังหวัด

หากไล่เรียงงบประมาณและโครงการประชารัฐที่รัฐบาลหว่านงบลงไปเพื่อเอาใจประชาชน อาทิ "โครงการสินเชื่อบ้านประชารัฐ" วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท อีกโครงการที่ประทับใจมวลชน "โครงการธงฟ้าประชารัฐ" กระทรวงพาณิชย์จัดคาราวานขายของถูก งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท หรือโครงการ "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ" วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเถ้าแก่น้อยที่เพิ่งหัดเริ่มต้นธุรกิจ หรือ "โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ Micro SME" วงเงินรายละไม่เกิน 2 แสนบาท แก่หาบเร่แผงลอย แบบไม่มีหลักประกันและปลอดดอกเบี้ย ล้วนได้ใจรากหญ้าไปเต็มๆ

ต่อมา รัฐบาลเปิดนโยบายแก้จน แบบเจาะใจคนจนโดยตรงตามความต้องการ ด้วยการประกาศความตั้งใจว่าจะทำให้คนจนหายไปล้านคน แก้จนเฟส 1 ดีเดย์เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 "โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือคนจน ให้มาลงทะเบียนเพื่อนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ทั้งหมด 8.3 ล้านราย โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท แจกเงิน 3,000 บาท "บิ๊กตู่" อ้างเหตุผลหนักแน่นว่า รัฐบาลคืนความสุขเพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่พี่น้องประชาชน

ยิ่งเข้าโค้งสุดท้ายในอำนาจ "บิ๊กตู่" เร่งฝีเท้าทำคะแนนทางการเมืองจากประชาชน จึงเห็นชอบโครงการแก้จนเฟส 2 ด้วยการใช้กลไกทางการเงินของสถาบันการเงินรัฐ คือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนิน 6 มาตรการ 18 โครงการ งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ 4.7 ล้านราย

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส.นั้นได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีรายได้น้อย อาทิ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ งบประมาณ 3,800 ล้านบาท โครงการชำระดีมีคืน วงเงินรวม 4,600 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคล ในครัวเรือน วงเงินสินเชื่อ 1.9 หมื่นล้านบาท โครงการสินเชื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังมีมาตรการการพัฒนาตนเอง อาทิ โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย เป้าหมาย 4 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนธนาคารออมสินนั้นมีวงเงินช่วยเหลือรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อย รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพื่อใช้เป็นเงินในการสร้างอาชีพเสริม หรือหารายได้เพิ่ม เช่น การทำธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดร้านค้าสตรีทฟู้ด และธุรกิจโฮมสเตย์ ฯลฯ

ยังไม่หยุดเทงบประมาณเพียงเท่านี้ "บิ๊กตู่" สั่งตั้งงบกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท หวังผล 2 เรื่อง คือ กระตุ้นเศรษฐกิจและเอาใจคนจน แบ่งงบเป็น 4 ก้อน คือ 1.งบประมาณในโครงการช่วยคนจนเฟส 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท 2.โครงการปฏิรูปราคาสินค้าเกษตร 4 หมื่นล้านบาท เน้นการแก้ไขราคายางตกต่ำ 3.งบประมาณในโครงการพัฒนาตำบล วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 4.นำไปใช้เพิ่มความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้าน 1-1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อชดใช้เงินคงคลัง

จากนโยบายประชารัฐ สู่แก้จนเฟส 1 และ 2 จึงเป็นที่มาของแผนเดินสายแก้จนโดยเน้นพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาความยากจนหนักๆ โดย "บิ๊กตู่" จะลงพื้นที่เดือนละจังหวัด พร้อมกับนำรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงต่างๆ ลงไปส่องกล้องว่าในแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง โฟกัสแต่ละจังหวัดมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไข ประเดิม 3 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ

ยิ่งมีกลไกภาครัฐ อำนาจทางการเมือง และการทหาร ที่สำคัญกลุ่มทุนใหญ่ยืนเคียงข้างพร้อมสนับสนุน "บิ๊กตู่" จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากลยุทธ์แก้จนของ "บิ๊กตู่" จะเข้าตา หรือจะแป๊ก คงได้เห็นกัน