posttoday

จับตา ‘ทหาร-ตำรวจ’ ผงาดคว้าเก้าอี้ กกต.

17 พฤศจิกายน 2560

แม้เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากเท่าไหร่นักแต่ปรากฏว่าการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กำลังทวีความเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากเท่าไหร่นักแต่ปรากฏว่าการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังทวีความเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กกต.มีจำนวน 7 คน ดำรงตำแหน่ง 7 ปี โดยการได้มาซึ่ง กกต.ทั้ง 7 คนจะมาด้วยกัน 2 ทาง

ทางที่ 1 คณะกรรมการสรรหาดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครจำนวน 5 คน รัฐธรรมนูญบัญญัติคุณสมบัติของ กกต.ที่เป็นสาระสำคัญเอาไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ประการ ได้แก่ 1.เป็นหรือเคยเป็น อธิบดีหรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี 2.เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ เป็นส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี 3.เป็นหรือเคยเป็นศาสตราจารย์ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี

4.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองและทำมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี 5.เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี ในระดับไม่ต่ำกว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจํากัด ไม่น้อยกว่า 10 ปี

6.เคยดำรงตำแหน่งข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี และ 7.เป็นผู้ทํางานหรือเคยทํางานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี

ทางที่ 2 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติเลือกจำนวน 2 คน ซึ่งต้องเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

แน่นอนว่าความน่าสนใจย่อมอยู่ในส่วนการสรรหา กกต.ของคณะกรรมการสรรหา โดยภายหลังมีการปิดรับสมัครเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้สมัครจำนวน 41 คน ซึ่งเมื่อมีหลายคนที่นับว่า เมื่อยื่นใบสมัครปุ๊บก็มีโอกาสเข้าเส้นชัยปั๊บ

รายแรกต้องยกให้กับ "บิ๊กย้อย" พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีตรอง ผบ.ตร. มีหลายคนมองว่ามีความแนบแน่นกับขั้วอำนาจเก่า แต่เมื่อมาถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏว่าได้รับตำแหน่งสมาชิกสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย

บางทีฝันร้ายในอดีตที่เคยพลาดหวังจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติ อาจมาสมหวังกับตำแหน่ง กกต. ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการมองกันอีกว่าถ้าผ่านการสรรหาอาจถึงขั้นได้เป็นประธาน กกต.กันเลยทีเดียว

เมื่อมีตำรวจแล้วก็ต้องมีทหาร โดยมีเหล่านายพลหลายคนได้ยื่น ใบสมัคร อาทิ "บิ๊กนะ" พล.อ.อ.มานะ ประสพศรี อดีตเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เตรียมทหารรุ่นที่ 17 ไม่ใช่แค่มีความรู้ด้านทหารอย่างเดียว เพราะยังมีดีกรีเป็นถึงมหาบัณฑิตสาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ด้วย

หรือจะเป็น "พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ" เตรียมทหารรุ่นที่ 14 ปัจจุบันเป็นกรรมการ กสทช. ที่ผ่านมาเป็นอีก คนหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากครบเครื่องทั้งบุ๋นและบู๊ จบการศึกษาด้านสังคมวิทยาจากประเทศเยอรมนี ที่ว่าบู๊นั้นเพราะครั้งหนึ่งเคยแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบต่อการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมมาแล้ว

"พล.ท.ศานิต สร้างสมวงษ์" อดีตหัวหน้าศาลทหารสูงสุด เป็นอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจ เคยผ่านการสมัครกรรมการมาหลายองค์กร

ในกลุ่มนี้ต้องยอมรับว่าแม้จะมีเลือดเป็นทหารและตำรวจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสตบเท้า เข้ามาเป็น กกต.ทั้งหมด โดยน่าจะได้ ไม่เกิน 3 ที่นั่ง และสปอตไลต์ต้องจับ ไปที่ พล.ต.อ.วรพงษ์ และ พล.ท.ดร. พีระพงษ์ เป็นหลัก

จากกลุ่มทหารและตำรวจมากันที่กลุ่มพลเรือนกันบ้าง การกลับมาของ "ประชา เตรัตน์" อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นับว่าน่าสนใจพอสมควร เพราะเมื่อไม่นานมานี้บรรดาอดีต กมธ.ยกร่างฯ ชุด "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" หลายคนได้เก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญหลายคน ไม่แน่ว่าอาจถึงคิวของอดีตผู้ว่าฯ เมืองชลบุรี รายนี้ก็เป็นไปได้

เช่นเดียวกับ "ธวัชชัย ไทยเขียว" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงในยุค คสช.จะไม่ได้มีโอกาสทำงานในแม่น้ำ 5 สาย แต่ในฐานะลูกหม้อของกระทรวงยุติธรรมก็สามารถทำงานสร้างผลงาน ให้กับกระทรวงในด้านการให้ความ ช่วยเหลือประชาชนด้านกระบวนการยุติธรรม จนเป็นที่ประทับใจของรัฐมนตรีหลายคนที่ผลัดเวียนกันเข้ามา

นอกเหนือไปจาก "ประชา-ธวัชชัย" แล้วห้ามละสายตาไปจาก "ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์" เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และรองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) โดย กกต.เว้นว่างสุภาพสตรีเข้ามาทำงานพอสมควร จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะเปิดพื้นที่ให้เสียที

ตามมาด้วย "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาได้ ช่วยงาน คสช.เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่มวิทยุใต้ดินและ ทีวีการเมืองที่โจมตี คสช.และสร้าง ความไม่สงบ เห็นแบบนี้แล้วมีความ เป็นไปได้ที่อาจได้เห็น กสทช.ข้ามห้วย มาเป็น กกต.ถึง 2 คน

ตามขั้นตอนเมื่อคณะกรรมการสรรหาได้เคาะชื่อว่าที่ กกต. 5 คน แล้วจะนำมาประกบกับว่าที่ กกต. 2 คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อนนำส่งให้กับที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ต่อไป

ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อพรรคการเมืองเริ่มได้เค้าโครงหน้าตาตัวเต็ง กกต.กันแล้วจะรู้สึกสะท้านกันบ้างหรือไม่