posttoday

นายกฯยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองชี้สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย

07 พฤศจิกายน 2560

"ประยุทธ์"ยืนกรานยังไม่ปลดล็อคการเมือง ระบุสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย กฎหมายลูกยังไม่สมบูรณ์

"ประยุทธ์"ยืนกรานยังไม่ปลดล็อคการเมือง ระบุสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย กฎหมายลูกยังไม่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อคทางการเมืองให้สามารถทำกิจกรรมได้ว่า จากการประชุมคสช. เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้พิจารณาและประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ทางคสช. เห็นว่ายังมีปัญหาหลายประการด้วยกัน

เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะการเดินหน้าตามโรดแมปสำคัญที่สุด ทั้งนี้ คำว่าโรดแมปของตนคือ กฎหมายต่างๆ ต้องสมบูรณ์ เรียบร้อยโดยเฉพาะกฎหมายลูกต้องเกิดความชัดเจนขึ้น ตนไปบังคับไม่ได้ เป็นเรื่องของ กรธ. สนช. ที่จะพิจารณากันไป จะเห็นชอบหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน ไม่ใช่ตนจะไปสั่งได้ ตนไม่เคยสั่งเลย ถ้าสั่งได้คงไม่เป็นแบบนี้ คงไม่มีปัญหาทักท้วงอะไรมากมาย นี่คือสิ่งที่ตนทำอยู่ไม่ได้ใช้อำนาจ

"ที่เกรงกันว่าถ้าปลดล็อคการเมืองช้า พรรคการเมืองจะเตรียมการจัดตั้งพรรคไม่ทันภายในเวลาที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดนั้น ผมบอกแล้วว่า ปัญหาอยู่ที่กฎหมายลูก เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องทำ ผมคงไม่ปล่อยให้ทำไม่ทัน ผมมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการขยายระยะเวลาอะไรต่างๆ ให้เขาทำให้ทัน ผมมีอำนาจอยู่ตรงนี้ อย่าลืม"นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการทำงานร่วมกันทั้งคสช. ครม. สนช. กรธ. กกต. ซึ่งกกต.ก็ยังไม่เรียบร้อย นั่นคือประเด็นที่เป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นเพราะตนไม่สั่งให้ช้า ให้เลิก ให้เลื่อน มันอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ว่าจะปลดล็อคได้อย่างไรเมื่อไหร่ ปลดอะไรก่อนอะไรหลัง หรือจะปลดพร้อมกัน เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงกระแสข่าวคสช.จะตั้งพรรคการเมือง เพื่อต้องการลดขนาดพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนจะไปลดขนาดใครได้ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะเลือก จะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งประชาชนเป็นคนเลือก จะเลือกใครก็แล้วแต่ วันนี้ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนหรือเปล่านั่น คือสิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไป ถ้าไม่มีทางเลือก เขาก็ไม่รู้จะเลือกใคร แล้วจะอย่างไรก็ไปคิดกันมาแล้วกัน ช่วยแนะนำทางออกให้ตนหน่อยว่าควรทำตัวอย่างไร

"ผมรับฟัง ผมไม่อยากที่จะสร้างความขัดแย้งกับใคร ตนอยากชี้แจงในอารมณ์ที่สงบ ซึ่งในที่ประชุมมีหลายเรื่องที่สั่งการไป ก็ขอให้ทุกคนพยายามรักษาสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในช่วง 1 ปีที่เหลืออยู่นี้ ถ้าเราทำตรงนี้ให้สงบไม่ได้ มันต้องมีการคาดการณ์ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก่อนการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ลองคิดแบบนี้กันดู มันจะกลับมาอีกหรือไม่ ความขัดแย้งอะไรต่างๆ ให้ท่านกังวลกับผมด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนสุมไฟกันไปมา สุมให้มันลุกไปเรื่อยๆ แล้วมาให้ผมทำให้สงบ ผมจะมีอะไรได้ นอกจากบังคับใช้กฎหมาย คงไม่มีอะไรทำได้ ที่ผ่านมาบางทีกฎหมายก็ทำไม่ได้ นั่นคือปัญหาของประเทศไทย ขอร้องเถอะอย่าให้สิ่งที่เราพยายามทำกันมา 3 ปี ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นั่นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วง"นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า จะต้องมีปัจจัยอะไรที่คสช.ต้องตั้งพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่รู้ ยังไม่ได้คิด เมื่อกี๊พูดไปแล้วประเมินเอา"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าวถึงเรื่องการพิจารณาปลดล็อคพรรคการเมือง นายกฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารสรุปการหารือของคสช. เนื้อหาระบุว่า คสช.ได้พิจารณาประเมินสถานการณ์มาเป็นระยะๆ อยู่แล้วแม้กระทั่งเช้าวันนี้และจะประเมินต่อไปทุกระยะ ความเห็นในขณะนี้มีว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย บ้านเมืองยังอยู่ระหว่างห้วงเวลาที่ยังไม่ควรมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางอื่นใด กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งก็ยังไม่เรียบร้อยยังไม่เข้าสภา กกต.ชุดใหม่ 7 คนก็ยังอยู่ระหว่างการสรรหาไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางกฎหมายพรรคการเมืองก็ยังไม่มี มีแต่ผู้รักษาการแทน  จึงขอให้การปลดล็อคที่พูดกันรอไปอีกระยะ อย่าตื่นเต้นกังวล

ในระหว่างนี้คสช.ขอให้คำยืนยันว่า

1.ทุกอย่างยังเดินต่อไปตามโรดแมป คือ จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับจากเมื่อกฏหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ 1 ใน 4 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ ส่วนกฎหมายนี้จะเสร็จได้เมื่อใด ขอให้ถามประธานกรธ. และ ประธานสนช.

2.ส่วนที่เกรงว่าพรรคการเมืองจะทำไม่ทันภายใน 90 วันหรือ 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดและจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งนั้น คสช.ทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้หารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดจึงคำนึงถึงอยู่แล้วขออย่าได้กังวล ระยะเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดขึ้นไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้ ในกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 141 นายทะเบียนพรรคการเมืองเพียงคนเดียวก็สามารถอนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวได้เป็นกรณีๆไป

คสช.จึงจะไม่ทำให้เสียหายหรือกระทบต่อพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าพรรคเก่าหรือพรรคตั้งใหม่เป็นอันขาด โดยจะใช้มาตรการพิเศษที่คสช.มีหรืออาจใช้มาตรการอื่นๆ ทางกฎหมายตามวิถีทางรัฐธรรมนูญคลี่คลายปัญหาให้โดยจะปรึกษากับกกต. และไม่ให้ประกาศคสช.ที่ 57/2559 หรือคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 เป็นอุปสรรค หากแต่จะให้ทุกอย่างสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งหรือความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข