posttoday

ผ่าอนาคตสังคมไทย 3 ปีก่อนเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ’

19 พฤศจิกายน 2561

ผ่าอนาคตสังคมไทย 3 ปีก่อนเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ’ตามหลักของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

เรื่อง...เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา

ผ่าอนาคตสังคมไทย 3 ปีก่อนเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ’ตามหลักของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จนกว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ย้อนกลับมาสำรวจสัดส่วนประชากรไทย จากการเปิดเผยของ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย พบว่าขณะนี้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เนื่องจากมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 17% และภายใน 3 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึง 20% มีจำนวนผู้สูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากจำนวน 4.6 ล้านคน เป็น 5.6 ล้านคน และคาดว่าในปี 2583 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 20.5 ล้านคน หรือ 32% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรวัยแรงงานมีเพียง 35.18 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนวัยแรงงานในปี 2553 ที่มีอยู่ 42.74 ล้านคน หรือลดลง 7.6 ล้านคนนั่นเอง

คำถามคือ ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่กำลังเข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ

เพื่อมุ่งแสวงหาความร่วมมือในการหาทางออกของผลพวงจากการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมโดยรวมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สถาบันคีนันแห่งเอเชียและพันธมิตรได้ร่วมกันจัดงานเสวนาระดับโลก “NextGen Aging - Shaping A Smart Future for an Aging Society Conference” เป็นครั้งแรก เพื่อร่วมกำหนดอนาคตสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีนักวิชาการชื่อดังมาร่วมสะท้อน
มุมมองอย่างน่าสนใจ

ผนึกกำลังฝ่าวิกฤตสูงวัยแบบสมาร์ท

ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาทางสถาบันคีนันฯ ไม่เพียงมีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการ
เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ยังมุ่งหาแนวทางรับมืออย่างเป็นรูปธรรม

“เราไม่ได้ให้ทำงานกับชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ลงพื้นที่ไปชนบท เพื่อให้ความรู้อย่างจริงจัง เพราะมีแรงงานที่มีรายได้ต่ำอยู่จำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชราจะยิ่งไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และหากเปรียบเทียบระหว่างแรงงานในเมืองกับชนบท จะพบว่าแรงงานในชนบทมีการเออร์ลีรีไทร์ก่อนแรงงานในเมือง เพราะการใช้ร่างกายทำงานอย่างหนักโดยขาดการดูแล ทำให้เมื่อทำงานได้ถึงอายุ 55 ปี ร่างกายก็เริ่มไม่ไหวแล้ว ขณะที่แรงงานในเมืองยังทำงานได้จนอายุ 65 ปี”

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงในชนบทคือ ฐานะทางการเงินที่ไม่สามารถดูแลตัวเองไปได้ตลอดชีวิต เนื่องจากมีรายได้ต่ำ ขาดความรู้และการวางแผนเรื่องการออม

“จากการลงพื้นที่ทำให้เราพบว่าครอบครัวในชนบทส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นเสาหลัก มีหน้าที่เก็บออมเงิน บางครั้งยังเป็นคนหารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วย ขณะที่วัยแรงงานในชนบทส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมือง ทำให้มีกลุ่มผู้สูงวัยไม่น้อยต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยลำพัง สิ่งที่เราพยายามทำ นอกจากจะเข้าไปจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการออมกับกลุ่มที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย ยังเน้นการปลูกฝังนิสัยการออมให้กับเด็กๆ รู้จักวางแผนการออม ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ดูแลสุขภาพ ห่างไกลจากเหล้าและบุหรี่”

อย่างไรก็ตาม ปิยะบุตร มองว่าสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศในที่สุด ซึ่งหากไม่หาทางรับมือหรือสร้างผู้สูงอายุที่สมาร์ทจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และจีดีพีของประเทศอย่างแน่นอน ตามสัดส่วนวัยแรงงานที่ถดถอย”

ออมไม่พอปัญหาหลักของวัยเก๋าไทย

ด้าน ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย เผยว่า ปัญหาของผู้สูงอายุไทยคือออมไม่พอ จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่าคนไทยที่บอกว่าตัวเองเกษียณและออมพอมีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจจะเริ่มแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถออมได้เพียงพอ เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ วางแผนการออมที่ไม่ดีพอ ไม่คิดว่าตัวเองจะอายุยืน บวกกับผลตอบแทนการออมที่ต่ำลงแบบไม่คาดคิด เพราะฉะนั้นคำถามที่ต้องหาคำตอบจากนี้คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้การวางแผนการออมดีขึ้น คำตอบคือ ยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งไปสู่เป้าหมายได้ไว

“หลายครั้งอาจจะเริ่มตั้งเป้าในการออมแล้ว แต่บางครั้งพอเห็นตัวเลขที่ต้องออมก็อาจจะถอดใจ โดยเฉพาะใครที่มาเริ่มออมตอนใกล้จะ 40 วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรเริ่มต้นสร้างวินัยการออมตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงาน และเมื่อเข้าสู่วัยใกล้เกษียณต้องวางแผนการออมให้ดี แทนที่จะนำเงินก้อนไปลงทุนทั้งหมด ควรแบ่งสัดส่วนสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่ยังก่อให้เกิดสภาพคล่อง มีเงินสดหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ส่วนที่เหลือจึงนำไปลงทุนในส่วนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตระกูลเงินฝาก หรือพันธบัตรของรัฐบาล”

ขณะที่ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สัดส่วนการเติบโตของผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากจีน ในอีก 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพียง 9 แสนคน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้ ส่วนที่เหลือไม่เพียงดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะขาดการวางแผนการออมและยังมีหนี้สิน

“ผู้สูงอายุไทยอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวย ที่ผ่านมาถึงแม้รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสัดส่วนผู้ป่วยเยอะเมื่อเทียบกับจำนวนหมอที่มี ทำให้หมอ 1 คนต้องดูแลคนไข้วันละเป็นร้อย บางครั้งจึงไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มศักยภาพ”

นพ.บุญ ยังชี้ถึงผลกระทบที่ตามมาจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยขาดการวางแผนการรับมือว่า เศรษฐกิจบ้านเราพ้นสมัยเติบโต 8-9% ไปแล้ว เวลานี้ประเทศไทยเราต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตอย่างน้อย 4% ถึงจะสร้างงานได้ แต่วันนี้จีดีพีบ้านเราหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราเกือบต่ำสุดในภูมิภาค เพราะฉะนั้นสิ่งที่ย้อนกลับมาคิดคือ เราต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้เมื่อแก่ตัวไปยังพึ่งพาตัวเองได้ ท่ามกลางอนาคตที่มีการคาดการณ์กันว่ารายได้ของชาวมิลเลนเนียลจะลดลงถึง 50% เพราะงานหลายอย่างถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่”

สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีโจทย์ใหญ่ของทั้งโลก

ด้าน โนเอล พี.เกรอีส ผู้อำนวยการศูนย์กลางเดอะ เซ็นเตอร์ ฟอร์ ดิจิทัล เอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ อินโนเวชั่น จากยูเอ็นซี คีนัน แฟล็กเลอร์ บิซิเนส สกูล สะท้อนสถานการณ์สังคมสูงวัยผ่านผลวิจัยจาก AAPR & FP Analytics ซึ่งได้คัดเลือก 12 ประเทศซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศที่ไม่ได้มีการปรับตัวใดๆ เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ประเทศที่มีการปรับตัวด้านต่างๆ และเป็นผู้นำในการรับมือกับผู้สูงอายุ ตลอดจนประเทศที่กำลังมีการปรับตัวไปพร้อมๆ กับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกันใน 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้าง
พื้นฐานทางสังคมสำหรับรองรับผู้สูงอายุ โอกาสในการสร้างผลผลิต เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ การเข้าถึงเทคโนโลยี ตลอดจนการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

“หลายคนอาจคิดว่าประเทศพัฒนาแล้วจะจัดการกับ 4 ด้านนี้ได้ดี แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย มีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดการได้ทั้ง 4 ด้าน รองลงมาคือ เยอรมนี ทำได้ 3 ด้าน ส่วนบราซิล แคนาดา อิสราเอล เกาหลี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ยังทำได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ตุรกี แอฟริกาใต้ เม็กซิโก จีน ทำไม่ได้เลยแม้แต่ด้านเดียว สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ในบางประเทศจะเริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับผู้สูงอายุแล้วในบางด้าน แต่ด้านที่สำคัญที่สุดอย่างการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี กลับยังไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จ ยกเว้นญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายประเทศที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุต้องนำมาพิจารณา”

จากนี้แม้ประเทศไทยจะเหลือเวลาเตรียมความพร้อมอีกเพียง 3 ปี แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อย่างจริงจัง อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคม
สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบได้อย่างมีคุณภาพในทุกมิติ