posttoday

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

04 พฤษภาคม 2557

หาเรื่องเที่ยว (อีก) จนได้ คราวนี้ไม่ไปไหนไกล นั่งเรือ (ฟรี) ชิล ชิล รับลมเย็นๆ

โดย...โจ เกียรติอาจิณ

หาเรื่องเที่ยว (อีก) จนได้ คราวนี้ไม่ไปไหนไกล นั่งเรือ (ฟรี) ชิล ชิล รับลมเย็นๆ หรือจะไปทางบกก็ได้ ไปถึงเช่นกัน

จุดหมายของเราอยู่ที่ “เอเชียทีค” สุดฮิปเรื่องช็อป ชิม และชม ขวัญใจชาวต่างชาติ ที่บอกอย่างนั้นก็เพราะชาวต่างชาติไปเยอะ ยิ่งเฉพาะอาตี๋ อาหมวย ฮ่องกง ไต้หวัน แผ่นดินใหญ่ เดินชนไหล่ ถึงได้รู้ว่าไม่ใช่คนไทย

คนไทยอย่างเราไปถึงเอเชียทีคทั้งที ก็อย่ามัวแต่เดินเก๋ๆ เพื่อหามุมถ่ายเซลฟี่ตัวเองอยู่ละ ต้องทำหน้าที่สืบค้นต้นตอและที่ไปที่มา ก่อนจะกลายร่างเป็นเอเชียทีคกันด้วย

ถ้าใครยังไม่รู้ ตามมา เราจะเล่าเรื่องราวเอเชียทีคให้ฟัง

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

ว่ากันว่า เอเชียทีคที่เรา (และคุณๆ ทั้งหลาย) กำลังยืนทำหน้าแป้นแล้นอยู่นี้ เดิมเคยเป็นท่าเรือและโรงเลื่อย อันมีชาวเดนมาร์ก นามว่า “ฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน” ครอบครองในปี พ.ศ. 2450 นั่งนับนิ้วและบวกเลขในใจก็ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอดิบพอดี

เนิ่นนาน แต่ภาพอดีตนั้นยังมิเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งจารึกไว้ว่าท่าเรือและโรงเลื่อยแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสยามประเทศกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก ภายใต้ชื่อ “อีสท์ เอเชียติก”

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

นับแต่นั้นมา ท่าเรืออีสท์ เอเชียติก จึงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ลือเลื่องเห็นจะไม่พ้นในฐานะท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดและเกรียงไกรแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เรียกว่าเป็นประตูการค้าที่นำสยามประเทศสู่โลกสากล

ความรุ่งโรจน์ของท่าเรือดำเนินไปอย่างสวยหรู เม็ดเงิน ตลาดแรงงาน ตลอดจนธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในพื้นที่ ซึ่งเดิมทีนั้นเป็นที่ดินวัดพระยาไกรบนถนนเจริญกรุง ก็แลดูครึกครื้นตาม ตึกรามบ้านช่อง ร้านค้า ย่านตลาด เต็มไปด้วยสีสัน เพราะการก่อเกิดของท่าเรือและโรงเลื่อยดังกล่าว

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

แต่ทุกสิ่งมักไม่เที่ยง มีเกิดก็ต้องมีดับ มีรวยก็ต้องมีจน ท่าเรือและโรงเลื่อยที่เคยเปรี้ยงปร้างก็กลับโรยแรงตามกาลเวลา ภาพความซบเซา เงียบหงอย ถึงขั้นหยุดกิจการลงจึงปรากฏเป็นประจักษ์พยาน พ.ศ. 2527 วาระครบ 100 ปี อีสท์ เอเชียติก ก็ถึงคราปิดตัวลงอย่างถาวร

อีกเรื่องราวที่เกือบลืมเล่าไป นั่นก็คือสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484-2488 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดพื้นที่สำเร็จ โดยเป็นฐานที่มั่นและคลังแสง รวมทั้งยังเป็นที่คาดเดาว่าที่นี่ถูกใช้เป็นแหล่งหุงแร่ที่ขนมาจากกาญจนบุรี

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

ผ่านแล้วไม่ผ่านเลย แม้ท่าเรือและโรงเลื่อยแห่งนี้จะเป็นเพียงอดีต ทว่าเรื่องราวของเอเชียทีคยังโลดแล่นในใจผู้คนเสมอมา ถามคนเฒ่าคนแก่ที่เกิดทันยุคนั้นและมีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกันยากนักที่จะลืมเลือนกับบรรยากาศความขลังที่เล่าซ้ำกี่รอบก็ไม่เคยเบื่อหน่าย

ยิ่งเฉพาะเมื่อมีการชุบชีวิตท่าเรือและโรงเลื่อยขึ้นอีกครั้ง หลายคนตั้งตารอว่าจะออกมาแบบใด ที่สุดแล้วก็เป็นไปตามกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลง ท่าเรือและโรงเลื่อยถูกเนรมิตให้เป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” โดยกลุ่มเครือบริษัท ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ดำเนินโครงการ

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

ถึงอย่างนั้น พื้นที่กว่า 30 ไร่ จากทั้งหมดราว 70 ไร่ ก็ไม่ไร้ซึ่งกลิ่นอายความเก่าซะทีเดียว โครงสร้างที่มีมาแต่อดีตยังคงไว้ให้ดูชม โกดังเก่าถูกต่อเติมด้วยงานสถาปัตยกรรม ให้อารมณ์ร่วมสมัยที่ผสานกัน

ประติมากรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนยุคที่ท่าเรือและโรงเลื่อยเฟื่องฟู รถลาก เฟืองโบราณ สมอเรือ กุลีแบกกระสอบข้าวสาร ขาดไม่ได้คือ การนำโกดังเก่ามาจัดเป็นพื้นที่ใช้สอยเชิงธุรกิจ 10 โกดัง เพื่อตอกย้ำว่าอดีตของท่าเรือและโรงเลื่อยแห่งนี้ไม่เคยสิ้นมนต์เสน่ห์

เอเชียทีค มีเรื่องเล่า

 

“ใครจะคิดว่าท่าเรือการค้าสากลแห่งแรกของเมืองไทยจะกลายมาเป็นสถานที่แห่งความสุขที่มีสไตล์ที่สุดในทุกวันนี้” ประโยคหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในแผ่นพับแนะนำนักท่องเที่ยว

ร้านอาหาร ร้านช็อปปิ้ง ร้านแฮงเอาต์ก็มีเยอะแยะ แถมด้วยโรงละครขนาดใหญ่ และที่กลายเป็นจุดเด่นเห็นจะเป็นชิงช้าสวรรค์ มองเห็นวิวสวยๆ ริมเจ้าพระยาและละแวกใกล้เคียง ขณะที่พื้นที่ภายในเอเชียทีคยังแบ่งเป็น 4 ย่านให้เดินกันสนุก ย่านเจริญกรุง ย่านกลางเมือง ย่านโรงงาน ย่านริมน้ำ

ถูกใจถูกลิ้นก็หลายร้าน คนชอบกินมาแล้วไม่ผิดหวัง เพราะเพียบด้วยของอร่อย ถือเป็นสวรรค์ของนักกินก็ว่าได้ ถ้ายังไม่ได้มาพิสูจน์กับตัวเอง อย่าเพิ่งเชื่อเรา แต่ถ้ามาแล้วร้อยทั้งร้อยย่อมจะต้องทึ่งในเรื่องที่เราเล่าให้ฟัง