posttoday

เสี่ยงชีวิตหมื่นลี้เสาะหาพระวินัย (1)

10 กุมภาพันธ์ 2562

ในประวัติศาสตร์จีนมีนักเดินทางชาวพุทธที่สำคัญอยู่ 3 ท่านคือ พระฝาเสี่ยน พระเสวียนจั้น หรือพระถังซำจั๋ง และพระอี้จิ้ง เรามักจะได้ยินชื่อของพระถังซำจั๋งมากกว่าใคร

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

ในประวัติศาสตร์จีนมีนักเดินทางชาวพุทธที่สำคัญอยู่ 3 ท่านคือ พระฝาเสี่ยน พระเสวียนจั้น หรือพระถังซำจั๋ง และพระอี้จิ้ง เรามักจะได้ยินชื่อของพระถังซำจั๋งมากกว่าใคร แต่ท่านที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พระฝาเสี่ยน ซึ่งเดินทางไปสืบพระศาสนาที่ชมพูทวีป ในสมัยราชวงศ์หนานเป่ย

พระธรรมวินัย คือ ตัวแทนพระศาสนา พระถังซำจั๋งรอนแรมไปชมพูทวีปเพื่อนำพระธรรมกลับมา ส่วนพระฝาเสี่ยนบุกบั่นนับหมื่นๆ ลี้เพื่อแสวงหาพระวินัย

ในยุคของพระฝาเสี่ยนศาสนาพุทธรุ่งเรืองอย่างมาก พระสงฆ์มีความรู้ทางปรัชญา ทั้งยังมีอิทธิพลทางการเมือง แต่กระทำตนตามอำเภอใจ เพราะไม่มีพระวินัยให้ศึกษา แม้การศึกษาพระธรรมจะรุ่งเรือง แต่ส่อวี่แววเสื่อมถอย เพราะขาดรากแก้ว คือพระวินัย

เดิมนั้น พระฝาเสี่ยนบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะท่านมักป่วยกระเสาะกระแสะ บิดามารดาจึงฝากท่านไว้กับพระศาสนาที่วัดเซียนถัง ในมณฑลซานซี ต่อมาอายุได้ 20 ก็อุปสมบทที่วัดเดียวกัน พำนักอยู่ที่นั่นนานเกือบ 50 ปี ไม่เคยย่างกรายไปไหน

กระทั่งอายุได้ 50 จึงเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่ฉางอัน ได้รับความกระจ่างมากมาย แต่กลับพบว่าพระสงฆ์วินัยเหลวแหลก ซ้ำยังไม่มีคัมภีร์พระวินัยให้ศึกษา สร้างความกลัดกลุ้มแก่ท่านอย่างมาก

ในวัย 62 ปี ท่านจึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะไปแสวงหาพระวินัยที่ชมพูทวีป แม้ขณะนั้นจะชราภาพมากแล้ว ทั้งยังต้องเดินทางไกลนับหมื่นๆ ลี้ ผ่านภยันตรายมากมาย ท่านก็ตั้งมั่นถวายกายใจเพื่อนำพระวินัยมาสู่แผ่นดินจีนให้จงได้

ในปี ค.ศ. 399 ท่านเดินทางพร้อมกับพระสงฆ์อีก 10 รูป ไปดินแดนตะวันตก ผ่านทะเลทราย ผ่านภูเขาหิมะ ผ่านแผ่นดินที่ไม่เป็นมิตร ภยันตรายนานัปการ ผู้ร่วมคณะต่างล้มหายตายจากไปกระทั่งเหลือท่านกับพระสงฆ์อีกรูป มาถึงกรุงปาฏลีบุตรในที่สุด จนได้พบกับคัมภีร์พระวินัยที่ดั้นด้นค้นหา

ท่านคัดลอกพระวินัยที่กรุงปาฏลีบุตรนาน 3 ปี กระทั่งถึงเวลาที่จะต้องกลับไปวางรากฐานพระวินัยที่จีน แต่พระสงฆ์จีนในคณะอีกรูปไม่คิดกลับ เพราะเบื่อหน่ายกับความหย่อนยานของคณะสงฆ์ที่บ้านเกิด เหลือแต่ท่านฝาเสี่ยนเดินทางกลับเพียงลำพัง แรกท่านเดินทางไปที่ท่าเรือเมืองตามราลิปติ ศึกษาธรรมอีก 2 ปี รวมอยู่ในอินเดีย 5 ปี ต่อมาล่องเรือไปลังกาทวีปศึกษาธรรมอีก 2 ปี

จนวันหนึ่ง เห็นของถวายพระจากเมืองจีน จึงเกิดรำลึกถึงบ้านเกิดยิ่งนัก กอปรกับเก็บเกี่ยวความรู้และคัมภีร์มากพอแล้ว จึงตัดสินใจออกเดินทางกลับเมืองจีน แม้จะอายุมาก และไม่แน่ว่าจะเดินทางกลับถึงแผ่นดินเกิดหรือไม่ ครั้งนั้นท่านอายุถึง 74 ปีแล้ว

ที่ท่านเลือกกลับจีนทางเรือ เพราะเส้นทางสายไหมทางทะเลทรายมีสถานการณ์ไม่แน่นอน อาจถูกภัยสงครามหรือผู้มีอำนาจขัดขวาง ท่านจึงเลือกกลับพร้อมกับเรือสินค้า

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดอ่านต่อฉบับหน้า

ขอปิดท้ายด้วยข้อคิดสักเล็กน้อยเรื่องอานุภาพแห่งศีล เรียบเรียงจากอรรถกถาสัมมาทิฏฐิสูตร

มีอุบาสกท่านหนึ่ง ชื่อ จักกนะอุบาสก อยู่ในสีหลทวีป(ศรีลังกา) ในเวลายังหนุ่มอยู่นั้นมารดาของเขาเกิดป่วยเป็นโรคและหมอบอกว่าควรจะได้เนื้อกระต่ายสดๆ มาประกอบยา

ลำดับนั้น พี่ชายของจักกนะสั่งว่า “ไปเถอะเจ้าจงไปนา ไปหากระต่ายมาให้แม่”

จักกนะจึงไปที่นานั้น พอดีมีกระต่ายตัวหนึ่งมาเล็มหญ้าอ่อนอยู่ พอมันเห็นเขาแล้วรีบวิ่งหนีไป แต่ไปด้วยอารามรีบร้อนมันจึงไปติดกับเถาวัลย์ จึงส่งเสียงร้อง “แกร่ก แกร่ก” ขึ้นมา

จักกนะตามเสียงนั้นไป จับกระต่ายไว้ได้ ตั้งใจว่าจะเอามาทำยาให้แม่ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าไม่เป็นการสมควรสำหรับเขาที่จะทำลายชีวิตสัตว์อื่นแลกชีวิตแม่ของเรา จึงพูดว่า “ไปเถิดเจ้า ไปกินหญ้ากินน้ำร่วมกับกระต่ายทั้งหลายในป่าเถิด” แล้วปล่อยมันไป

เมื่อกลับถึงบ้าน พี่ชายถามว่า “เป็นอย่างไรน้อง ได้กระต่ายไหม?” จักกนะจึงได้บอกความเป็นไปนั้นให้ทราบ พี่ชายได้ยินจึงต่อว่าอย่างรุนแรง

จักกนะจึงเข้าไปหาแม่แล้วได้ยืนตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมาจำความได้ไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย”

ทันใดนั้นด้วยอานุภาพแห่งสัมปัตตวิรัติ แม่ของเขาได้หายจากโรคอย่างปาฏิหาริย์