posttoday

ความมั่นใจตัวเอง อันแสน ‘เปราะบาง’ ของวัยรุ่นปัจจุบัน

22 ตุลาคม 2561

ปัญหาเยาวชนปัจจุบัน ที่เน้นการ “รัก” ตัวเอง และเป็นตัวของตัวเองจนเป็นปัญหา เพราะปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้ยาก

เรื่อง : ดร.ต้อง เดอะ ฟิลเตอร์ ภาพ : เอเอฟพี

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมได้เข้าประชุมร่วมกับศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาหลายสาขา เราถกกันหลักๆ เรื่อง ปัญหาเยาวชนปัจจุบัน ที่เน้นการ “รัก” ตัวเอง และเป็นตัวของตัวเองจนเป็นปัญหา เพราะปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้ยาก และไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตผู้ใหญ่ปกติที่สังคมคาดหวังได้

และที่เป็นปัญหาก็เพราะความมั่นใจของพวกเขายังเปราะบางเกินที่จะรับความกดดันในชีวิตและอยู่ร่วมกับคนในสังคม จนยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกของการทำงานได้จริง

สิ่งที่นักบำบัดจิตวิทยาเยาวชนและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเป็นห่วงก็คือ เด็กรุ่นหลังๆ พยายามเป็นตัวของตัวเองเสียจนสุขภาพจิตเสีย เพราะการอยากเป็นตัวเองอาจไม่ง่ายอย่างที่เขาคิด และหลายครั้งการอยากเป็นตัวของตัวเองกลับกลายเป็น “การหลงตัวเอง” (Narcissistic) ซึ่งก็คือยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ฟังคำวิจารณ์ไม่ได้ เพราะต้องการแต่ให้คนรอบข้างชมชอบหรือชื่นชม จนทำให้ไม่เห็นความจำเป็นของการรับคำวิพากษ์หรือความเห็นด้านลบจากผู้ใหญ่ที่หวังดี

ความเชื่อมั่นและเคารพนับถือตัวเองที่วัยรุ่นโหยหา ยิ่งกลับทำให้ความนับถือตัวเองที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วยิ่งตกต่ำลง อับอายหรือรู้สึกอ้างว้างตัวคนเดียวง่ายกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าเป็นยุคที่เปราะบางง่าย (เพราะไม่ต้องพยายามมากเหมือนคนรุ่นก่อนๆ) รวมถึงเมื่อถูกปฏิเสธหรือได้รับการวิจารณ์ข้อเสียของตัวเองจะยิ่งหัวเสีย รับมือกับความจริงที่เป็นจุดอ่อนด้อย หรือปมด้อยของตัวเองไม่ได้เลย

ผมเห็นใจวัยรุ่นที่เกิดมาในยุคนี้ เพราะบางทีมันก็อาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจว่า อะไรคือตัวเอง? และการอยากเป็นตัวเองของเยาวชนที่กำลังจะก้าวมาเป็นผู้นำในวันข้างหน้า จริงๆ มันคือการเน้นความมั่นใจในสิ่งที่เชื่อ สิ่งที่คิดว่าใช่ เป็นหลักสำคัญจริงหรือ? ถ้าจริงแล้วจะต้องฟังคนอื่น หรือฟังผู้ใหญ่ด้วยหรือ? ในเมื่อเรารู้ดีที่สุดว่าอะไรดีกับเรา

มันมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นตัวของตัวเองหลายอย่าง ที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาถกกันอยู่ เช่น ความภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) กับการกำหนดอนาคตด้วยตัวเอง (Self-Determination) ก็ดูคล้ายกัน แต่อย่างแรก ถ้าเป็นความภูมิใจในตัวเองที่เน้นการตามใจ สงสารตัวเอง รวมถึงการไม่ยอมรับการท้าทายอะไรในชีวิตให้โตกว่าเดิม จนขาดความสามารถในการทนทานต่อความล้มเหลวเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ ในชีวิต (Resilience) คนคนนั้นอาจแค่มั่นใจตัวเองเชิงปกป้องตัวเอง (จากความกดดันทุกรูปแบบ) จนขาดความทนทานต่อความผิดพลาดล้มเหลว และกลายเป็นว่าคนนั้นไม่สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้ เพราะเขาไม่สามารถทนต่อหรือปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตของเขาได้ดี

ผมเจอวัยรุ่นหลายคนที่มีปัญหานี้ที่เข้ามารับการบำบัดเยียวยา เพราะพวกเขายังแยกไม่ออกระหว่าง “ความมั่นใจตัวเอง” กับ “การกำหนดอนาคตตัวเอง” ที่อาศัยการทำความเข้าใจตัวเองทุกด้าน และยอมรับได้ทั้งคำติ คำชม จากคนรอบข้าง เพื่อให้โตขึ้นได้ และทนต่อการปรับตัว เพื่อทำความเข้าใจกับโลกภายนอกได้ดี ดีจนกำหนดอนาคตตัวเองเป็น ไม่ใช่แค่มั่นใจและปกป้องตัวเองจากความล้มเหลวอย่างเดียว

ศ.ดร.แมกซ์ ออสติเนลลี่ และคณะ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่าง ลองภูมิใจตัวเองโดยให้จินตนาการว่า ไม่มีอะไรที่ตัวเองทำไม่ได้ในโลกนี้ หรือ The Sky Is The Limit ผลที่ตามมาคือ กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะทำข้อสอบหรือแม้แต่การไปซื้อมือถือที่ห้างสรรพสินค้า กลับได้ผลลัพธ์แย่กว่าปกติ เพราะพวกเขาไม่ได้คิดให้รอบคอบเลย การยิ่งมั่นใจตัวเองแบบไม่ฟังใคร กลับทำให้ผลงาน ผลการเรียน แย่ลงกว่าเดิม

ศ.แลร์รี่ โลเซ่น จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท ได้ทำการศึกษาวิจัยผลของสื่อออนไลน์ต่อวัยรุ่น และพบว่าวัยรุ่นที่ใช้สื่อโซเชียลมากๆ จะมีผลด้านลบต่อการเรียน สุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคมและการหลงตัวเองมากขึ้นกว่าวัยรุ่นที่มีการใช้สื่อออนไลน์ที่สมดุลกับการใช้ชีวิตจริง ความมั่นใจที่มีจะเปราะบาง และเน้นการปกป้องตัวเองจากความล้มเหลว มากกว่าการท้าทายตัวเองให้โต

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า สื่อออนไลน์ปัจจุบันถ้าต้องการให้เป็นกระแสหรือเป็นที่นิยมจะพยายามปลุกระดมความคิดให้วัยรุ่นเชื่อและมั่นใจตัวเองมากๆ อย่างเดียว สิ่งนี้อาจส่งผลให้เขายิ่งงงกับการใช้ชีวิตจริง เพราะยังขาดศิลปะที่ต้องแยกระหว่างสิ่งที่คนอื่นหวังจากเรา รวมถึงสิ่งที่เราหวังตามคนอื่น รวมถึงยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกุขึ้นมาว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่จริงๆ กลับแค่อยากพิสูจน์ตัวเอง เพราะอยากทำให้ได้ตามที่คนอื่นหรือสังคมหวังมากกว่า แต่ยังรับมือกับการค่อยๆ เรียนรู้จากความผิดหวังไม่เป็น

วัยรุ่นปัจจุบันรับสารจากสื่อที่อาจทำให้รู้สึกว่าเขามีเวลาน้อยและต้องรีบสำเร็จไวๆ เพราะเขามักเห็นจากสื่อว่าคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนเรียนไม่จบ กล้าออกมาตั้งบริษัทเอง รวมถึงกล้าท้าทายความเชื่อเดิมๆ แต่เขาลืมไปว่าเขายังไม่เข้าใจทักษะการกำหนดอนาคตตัวเอง ที่มันมีมากกว่าแค่ความมั่นใจในสิ่งที่มีอยู่เดิม จนไม่ทนกับการเรียนรู้ทักษะชีวิต ที่ต้องค่อยๆ อ่านตัวเอง ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อนด้อย รวมถึงบุคลิกนิสัยด้านลบ ที่ต้องปรับเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากสังคมรอบข้างด้วย

และท้ายสุด การศึกษาวิจัยด้านเยาวชน ยังสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่มีอิทธิพลในการร่วมกำหนดอนาคตลูก โดยคอยสอน ให้ข้อคิด รวมถึงร่วมกันวางแผนอนาคตเพื่อช่วยลูกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า

ผมจึงอยากแค่กระตุกผู้ใหญ่ที่อ่านข้อความผมวันนี้ว่า ตราบใดที่ลูกเรายังแยกความมั่นใจตัวเองกับการประเมินตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อศึกษาชีวิตทั้งจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเองไม่เป็น และส่งผลจนทำให้อดทนไม่เพียงพอและเปราะบางต่อคำวิจารณ์เกินไป พ่อแม่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยพวกเขาให้ข้ามพ้นวันที่ความมั่นใจตัวเองยัง “เปราะบาง” อยู่ เพราะความมั่นใจที่มียังไม่ใช่ความมั่นใจที่สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้จริง