posttoday

ธัญญาพาร์ค ใส่ใจ แบ่งปัน รักษ์โลก

28 กรกฎาคม 2561

หลายองค์กรทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย ไรเฟิลเบิร์ด

หลายองค์กรทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เพียงหยิบยกมาเป็นเทรนด์ทางการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สวยหรู แต่ประเด็นนี้กลายเป็นหัวใจของการพัฒนาระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ

ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ก็เป็นหนึ่งองค์กรที่นำแนวคิด “Eco & Sustainable” มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหาร บอกว่า ถ้าสังเกตทั้งประเทศไทยและต่างประเทศต่างต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาขยะ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น มลพิษ พายุฝน และอีกมากมาย จึงก่อให้เกิดเป็นการจัดทำแผนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ขึ้น

“การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผน 15 ปี (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยสหประชาชาติ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ รวมถึงการนำหัวข้อเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไปสอดแทรกในการกำหนดเทรนด์โลกเป็นประจำทุกปี และการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ธัญญาพาร์ค ใส่ใจ แบ่งปัน รักษ์โลก

เห็นได้ว่าแนวความคิดเรื่อง Eco ไม่ได้เป็นเทรนด์ที่แค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เป็นหัวใจของการพัฒนาโลกให้เกิดความอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”

การวางคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์การค้ารักษ์โลก หรือ Eco Shopping Mall เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือประเทศไทยในการอนุรักษ์พลังงานและเป็นต้นแบบองค์กรสีเขียว ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรจากการลงทุนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ต้องการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ และทุกคนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

อีกทั้งต้องการให้เป็นศูนย์การค้าที่ช่วยปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์พลังงานแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ ได้นำแนวคิด “Eco & Sustainable” มาใช้เป็นหัวใจหลักในการบริหารศูนย์การค้า แบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 2 แนวทาง

ธัญญาพาร์ค ใส่ใจ แบ่งปัน รักษ์โลก

แนวทางที่ 1 คือ ด้าน “โครงสร้างอาคาร” (Structure) หรือออกแบบให้เป็นอาคารสีเขียว (Green Building) ถือเป็นกระบวนการคิดตั้งแต่การวางผังอาคารบนพื้นที่กว่า 7 หมื่น ตร.ม. ออกแบบให้มีการวางอาคารแบบกระจายตัว เพื่อเปิดช่องรับลมธรรมชาติ ทำให้มีกระแสลมผ่านตัวอาคารตลอดทั้งปี

พร้อมทั้งนำนวัตกรรมประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง อาทิ กระจก Low - E ลดปริมาณความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร การจัดสวนแนวตั้ง ลดการรับแสงแดดและการสะท้อนของแสงช่วงกลางวัน และภายในตัวอาคารทั้งหมดจะถูกควบคุมและตรวจสอบด้วยนวัตกรรมการจัดการพลังงาน ที่คอยคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลาของวัน

รวมถึงการนำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี (Nano Technology) มาใช้ในโถปัสสาวะชายเพื่อลดการใช้น้ำแบบ 100% ควบคู่ไปกับนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียและบ่อกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ในการดูแลสวนและงานภายนอกทั่วไป พร้อมด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แสงสว่างยามค่ำคืนหลังปิดให้บริการ

ธัญญาพาร์ค ใส่ใจ แบ่งปัน รักษ์โลก

“องค์กรมีแผนดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์การค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มที่ ล่าสุดเตรียมเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าทั้งศูนย์การค้าจากหลอดประหยัดพลังงาน T5 มาเป็นหลอดประหยัดพลังงาน LED เพื่อเพิ่มแสงสว่างและลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ทั้งสิ้นจำนวน 6,100 หลอด ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณค่าไฟฟ้าของแสงสว่างได้เพิ่มถึง 60-65% จากเดิมต้องชำระค่าไฟฟ้า 2.75 ล้านบาท/ปี เหลือเพียง 9.6 แสนบาท/ปี”

แนวทางที่ 2 คือ “กิจกรรม” (Event) ตลอดทั้งปีศูนย์การค้าจะมีกิจกรรมทางการตลาดทั่วไปประมาณ 40% และอีก 60% จะเป็นกิจกรรมในรูปแบบ Eco & Sustainable สอดแทรกข้อมูลและเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และความยั่งยืนของชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้มาร่วมงานได้ประโยชน์

ยกตัวอย่าง “อโกรา ฟาร์เมอร์ส มาร์เก็ต” การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปราศจากยาฆ่าแมลง กิจกรรม “ธัญญาพาร์ค ฟรุตตามิน เฟสติวัล” เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรไทยนำผลไม้ปลอดสารเคมีมาจำหน่ายตรงกับผู้บริโภคในราคาหน้าสวน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเกษตรกรไทยให้ทำการเกษตรอย่างยั่งยืนไม่พึ่งพาสารเคมีในการเพาะปลูก

ธัญญาพาร์ค ใส่ใจ แบ่งปัน รักษ์โลก

กิจกรรม “ฟาร์มเด็ก ฟาร์มดี” เป็นกิจกรรมวันเด็กที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการสอดแทรกเนื้อหาเรื่องเกษตรพอเพียงให้เยาวชนในเมืองหลวงได้เรียนรู้และลองลงมือทำ ทั้งการทำนา การเลี้ยงสัตว์ และกิจกรรม “Gardeners Market” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ได้นำ ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ เมล็ดพืชพันธุ์ และอุปกรณ์สำหรับจัดสวนและการเกษตรมาจำหน่าย พร้อมทั้งภายในงานได้สอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สุนันทา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคกับการเลือกใช้สินค้าและบริการไม่ได้พิจารณาแค่คุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาไปถึงนโยบายขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน เพราะการเลือกสินค้าหรือบริการเปรียบเสมือนการได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิ่งดีๆ ที่องค์กรนั้นได้ปฏิบัติด้วย