posttoday

"ใหลตาย" เกิดจากปัญหาการเต้นของหัวใจไม่ใช่เพราะ "ผีแม่ม่าย"

13 มีนาคม 2561

"ไขความลับ-เปิดข้อเท็จจริงเรื่องใหลตาย" พร้อมเผยวิธีป้องกันจากเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

"ไขความลับ-เปิดข้อเท็จจริงเรื่องใหลตาย" พร้อมเผยวิธีป้องกันจากเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

---------------------------------

โดย..พัชรวรรณ มงคล

กรณี ดาดิเด้ อัสตอรี กัปตันทีมม่วงมหากาฬ ฟิออเรนตินา สโมสรฟุตบอลแห่งศึกกัลโช เซเรีย อา ประเทศอิตาลี เสียชีวิตอย่างกะทันขณะนอนหลับอยู่ภายในโรงเเรม โดยแพทย์ระบุว่า หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิต กลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ

ในประเทศไทยมักเรียกการเสียชีวิตในขณะนอนหลับว่า "โรคใหลตาย" ซึ่งเกิดจากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจขั้นรุนแรง มีผลทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆของร่างกายได้ โดยการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ประมาณ 0.5-1 คน ใน 1,000 คน แต่มีความแตกต่างของอุบัติการณ์ระหว่างเชื้อชาติเป็นอย่างมาก โดยพบได้มากในประชากรที่มีเชื้อสายเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ไขความลับ! ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ใหลตาย” จากการถอดรหัสพันธุกรรมในคนไทยว่า 750 คน ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ และการจี้หัวใจด้วยเครื่องวิทยุ

ผศ.นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าอนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ สาขาวิชาหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคใหลตาย หรือ sudden unexplained nocturnal death syndrome (SUND) ใช้เรียกการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในขณะหลับ มีอาการคล้ายหายใจไม่สะดวกอาจเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่มักพบในมากในเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประเทศไทยมักพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากโรคนี้ไวต่อความร้อน มักพบในผู้ชายเฉลี่ยอายุประมาณ 30-50 ปี

ในอดีตประชาชนเกิดความเชื่อว่าผีแม่ม่ายมาพาชายหนุ่มไปอยู่ด้วย วิธีการแก้คือใส่ผ้าถุง ทาปากแดง นำป้ายมาแขวนหน้าบ้านพร้อมเขียนข้อความว่า บ้านหลังนี้ไม่มีผู้ชาย เป็นต้น

 

"ใหลตาย" เกิดจากปัญหาการเต้นของหัวใจไม่ใช่เพราะ "ผีแม่ม่าย"

 

ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคใหลตายเกิดขึ้นกับคนไทย ในอายุ 30-50 ปี อัตราการใหลตาย 40 ต่อแสนคน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก เนื่องจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง จึงเป็นเหตุทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ โดยเฉพาะสมอง สาเหตุหลักมาจากการมีผังผืดบริเวณผิวของหัวใจด้านนอกช่องล่างด้านขวา ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นระริก ซึ่งหากดูจากกราฟหัวใจจะมีลักษณะคล้ายขาตั๊กแตน หรือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Brugada ซึ่งโรคเหล่านี้ไวต่อความร้อน เมื่ออุณหภูมิ 40 องศาเมื่อไหร่ อุบัติการณ์การจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คนที่มีความเสี่ยงโรคใหลตายนั้น คือผู้รอดชีวิตจากการใหลตาย ผู้ที่มีญาติสายตรงมีอาการใหลตาย หรือผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ Brugada ซึ่งการรักษานั้นที่ผ่านมาจะใช้วิธีการฝังเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AICD) ซึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท แต่ปัจจุบันอยู่ในได้รับการบรรจุอยู่ในสิทธิประกันสุขภาพ เนื่องจากประสิทธิผลชัดเจนว่าลดอัตราการตายให้เหลือ 0% ขณะที่การรักษาด้วยยายังพบการตายอยู่ประมาณ 14%

อย่างไรก็ตาม เครื่องจะสามารถช็อกได้สูงสุดประมาณ 200 ครั้ง ก็จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ หากผู้ป่วยเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ

ดังนั้นจึงมีการพัฒนาการรักษาที่ต้นเหตุคือ การจี้ผังพืดหัวใจด้วยคลื่นวิทยุ ได้ทำมาประมาณกว่า 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมารักษาผู้ป่วยในเมืองไทยมากกว่า 70 ราย ซึ่งผลลัพธ์พบว่า อาการคลื่นไฟฟ้าผิดปกตินั้นหายไป ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และจากการติดตามต่อเนื่องมา 4-5 ปี ก็ไม่พบการเกิดอาการคลื่นหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางรายก็สามารถถอดเครื่อง AICD ออกได้ แต่เพื่อความมั่นใจจึงต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการจี้ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 2 -3 ปีก็จะได้ข้อสรุป ซึ่งหากมีประสิทธิผลที่ดีก็จะผลักดันให้เป็นสิทธิการรักษาแทนการฝังเครื่อง AICD เพราะมีราคาถูกกว่า

 

"ใหลตาย" เกิดจากปัญหาการเต้นของหัวใจไม่ใช่เพราะ "ผีแม่ม่าย"

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากข้อมูลที่พบ คนใหลตายมักมีประวัติในครอบครัวรุ่นก่อนที่เป็นเช่นเดียวกัน จึงคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมด้วย จึงต้องมีการศึกษาต่อ ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ จะเก็บข้อมูลพันธุกรรมและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของคนที่เป็นโรคใหลตายจำนวน 250 คน เปรียบเทียบกับการถอดรหัสพันธุกรรมของคนปกติอีก 500 คน หรือในอัตรา 1 ต่อ 2 ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อดูความแตกต่างกัน

ขณะนี้เก็บข้อมูลคนไข้ใหลตายได้แล้วกว่า 200 คน คนปกติอีกประมาณ 300 กว่าคน กำลังอยู่ในช่วงถอดรหัสและเก็บข้อมูลให้ครบจำนวน 250 และ 500 คน  คาดว่าใน 2-3 ปี จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้ เนื่องจากการถอดรหัสพันธุกรรมมีค่าใช่จ่ายที่สูง ครั้งละประมาณ 1-2 หมื่นบาทต่อคน หากทำได้ 1,000 คน ก็จะช่วยให้ประเทศมีฐานข้อมูลเรื่องพันธุกรรมที่ใช้ในการเปรียบเทียบโรคต่างๆ ได้

"ใหลตาย" เกิดจากปัญหาการเต้นของหัวใจไม่ใช่เพราะ "ผีแม่ม่าย"