posttoday

How to ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

02 กุมภาพันธ์ 2564

ไขข้อสงสัย ใครควรล้างจมูกบ้าง แล้วการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือควรเลือกแบบไหน ล้างแล้วช่วยลดการติดเชื้อได้ บรรเทาอาการคัดจมูกและหวัด ได้จริงหรือ?

ปัจจุบันทั้งฝุ่น PM2.5 เชื้อโรค และอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้หลายคนเกิดอาการคัดจมูก แสบสมูก น้ำมูกไหล ตัวช่วยอย่าง "การล้างจมูก" ที่บอกว่าดีซึ่งมีการแชร์ต่อๆ กันก็มีมาก

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นร้อยละ 0.9 เป็นการล้างน้ำมูก ฝุ่น สารก่อภูมิแพ้ ออกจากโพรงจมูก และโพรงไซนัส คำถามที่ว่า ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยลดการติดเชื้อได้ จริงหรือไม่?

คำตอบคือ จริง 

เมื่อล้างจมูกน้ำมูกที่ค้างอยู่จะถูกกำจัดออกทำให้มีน้ำมูกค้างลดลง การสะสมของเชื้อแบคทีเรียลดลง ลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจได้ นอกจากนี้ การล้างจมูกยังช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก บรรเทาอาการหวัด ลดความข้นเหนียวของน้ำมูกทำให้ขจัดน้ำมูกออกมาง่ายขึ้น และช่วยลดการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ได้

หลายคนอาจสงสัยว่าใครบ้าง หรือต้องมีอาการเช่นใดจึงควรล้างจมูกโดยทั่วไปผู้ที่ควรล้างจมูกคือ ผู้ที่มีอาการ หรือโรค เช่น จมูกอักเสบจากไข้หวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ โรคริดสีดวงจมูก 

ดังนั้น กล่าวได้ว่าน้ำเกลือ Normal Saline เป็นผลิตภัณฑ์ยา ก่อนเลือกซื้อควรตรวจสอบว่าขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้องหรือไม่ และควรศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย

How to ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

เรื่องนี้ทางด้านข้อมูลจากโรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ กล่าวถึงเรื่องของการล้างจมูก ไว้ว่า การล้างจมูก (Nasal Irrigation) เป็นการล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ ช่วยลดการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงจมูก และชะล้างสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ช่วยลดอาการน้ำมูกไหลลงคอ บรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้น ชนิดและความเข้มข้นของน้ำเกลือที่ใช้ในการล้างจมูก คือ 0.9% Sodium Chloride 

ใครบ้างที่ต้องแนะนำให้ล้างจมูก

  • ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ จำเป็นต้องล้างจมูกเพื่อระบายน้ำมูก ที่ค้างอยู่ในโพรงจมูกและไซนัส
  • สำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้และผู้ป่วยทั่วไปอาจล้างเมื่อมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก น้ำมูกไหลลงคอ หรือจาม
  • ล้างก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือตามคำแนะนำของแพทย์

อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูก

  • น้ำเกลือปราศจากเชื้อ 0.9% Sodium Chloride
  • หลอดฉีดยา (Syringe) ขนาด 5-50 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของผู้ป่วย
  • อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ภาชนะรองน้ำ กระดาษทิชชู่ แก้วสะอาด และจุกล้างจมูก 

ขั้นตอนการล้างจมูก

  1. ยืนหรือนั่งในท่าที่สะดวก ก้มศีรษะเล็กน้อยเหนืออ่างล้างหน้าหรือภาชนะรองน้ำ วางหลอด Syringe แนบเข้าไปในรูจมูก แล้วค่อยๆฉีดน้ำเกลือให้ไหลเข้าไปในรูจมูกอย่างช้าๆ ในระหว่างนี้แนะนำให้ผู้ป่วยอ้าปาก หายใจทางปาก หรือให้ส่งเสียงว่า “อา” โดยที่พยายามไม่กลืนน้ำลาย
  2. เมื่อน้ำเกลือไหลเข้าไปถึงโพรงจมูกส่วนหลัง เพดานปากจะมีปฏิกิริยาปิดโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเกลือไหลออกทางปาก น้ำเกลือจะไหลออกทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยไปชะล้างเอาน้ำมูกและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกมาด้วย
  3. บางครั้งน้ำเกลือบางส่วนอาจไหลผ่านลงคอ และผู้ป่วยอาจจะกลืนเข้าไปได้ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
  4. ระยะเวลาที่ใช้ในการล้างจมูกขึ้นอยู่กับปริมาณความหนาแน่นของน้ำมูกที่อยู่ในโพรงจมูก และขนาดของโพรงจมูก แนะนำให้ล้างจนไม่มีน้ำมูกออกมาอีก
  5. ให้ทำกระบวนการนี้ซ้ำสำหรับจมูกอีก 1 ข้างด้วย
  6. ใช้กระดาษทิชชูสั่งน้ำเกลือที่คงเหลืออยู่ในจมูกออกมาให้หมด อย่างไรก็ตามบางครั้งหลังการล้างจมูก อาจมีน้ำเกลือหลงเหลืออยู่ในโพรงจมูก ซึ่งน้ำเกลือส่วนนี้จะค่อยๆ ละลายน้ำมูกให้ไหลออกมาได้อีก ในบางครั้งน้ำเกลืออาจไหลไปถึงโพรงไซนัสและอาจหยดออกมาทางตาได้บ้าง ซึ่งไม่เป็นอันตรายจึงไม่ต้องวิตกกังวล กรณีนี้สามารถช่วยลดโอกาสเกิดได้โดยการฉีดน้ำเกลือเบาๆ และช้าๆ

ข้อควรระวังในการล้างจมูก

  • ควรใช้น้ำเกลือ“ปราศจากเชื้อ”การล้างจมูก ควรใช้น้ำเกลือ 0.9% Sodium Chloride ชนิดปราศจากเชื้อเพื่อความปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนโดยเฉพาะในไซนัส และความเข้มข้นขนาดนี้จะไม่ระคายเคืองโพรงจมูก
  • ห้ามใช้ “น้ำเปล่า” ล้างโพรงจมูก เนื่องจากน้ำเปล่า ไม่สมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย หากใช้น้ำเปล่าจะทำให้เกิดอาการสำลัก และแสบในโพรงจมูก รวมถึงมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
  • ไม่ควรฉีดน้ำเกลือแรง การฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกแรงๆ อาจทำให้โพรงจมูกเกิดการระคายเคือง หรืออักเสบได้
  • สั่งน้ำมูกเบาๆ หลังการล้างจมูก ควรสั่งน้ำมูกและเช็ดจมูกเบาๆ การสั่งน้ำมูกแรงๆ นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อโพรงจมูกแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อ หรือหูอักเสบได้ ขณะสั่งน้ำมูกไม่ควรอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรสั่งพร้อมๆกันทั้ง 2 ข้าง
  • การใช้ยาพ่นจมูก หากต้องใช้ยาพ่นหลังล้างจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อน อย่างน้อย 3-5 นาที จึงค่อยพ่นยา
  • ผู้ที่รูจมูกอุดตัน หากมีรูจมูกอุดตันด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการล้างจมูก
  • การล้างจมูกในเด็ก การล้างจมูกในเด็กสามารถทำได้อย่างปลอดภัยตามแนะนำของแพทย์ ควรล้างจมูกก่อนรับประทานอาหาร หรือดื่มนม เพื่อป้องกันการสำลัก สำหรับเด็กเล็ก (เด็กที่สั่งน้ำมูก หรือกลั้นหายใจไม่เป็น) ไม่แนะนำล้างโพรงจมูก แต่หากมีน้ำมูกให้ใช้วิธีหยดน้ำเกลือที่รูจมูก ข้างละ 2 หยด เพื่อช่วยให้น้ำมูกมีความข้นเหนียวลดลง หลังจากนั้นค่อยใช้ลูกยางแดง ดูดทั้งน้ำมูกและน้ำเกลือออกทันที

.

ภาพ Freepik

อ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา /กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ / รพ.เด็กสินแพทย์