posttoday

พัฒนาการของลูกน้อยที่เสี่ยงต่อโรค "มือ เท้า ปาก"

25 ตุลาคม 2563

กุมารแพทย์แนะจับจุดสังเกตอาการแบบไหนใช่ “โรคมือ เท้า ปาก” แน่ๆ พร้อมเผย “ดูดนิ้ว หยิบของเข้าปาก” หากลูกน้อยกำลังอยู่ในวัยนี้ พึงระวังอาจเสี่ยงเป็นโรคท็อปฮิตนี้ได้ง่ายๆ

การได้เห็นลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีตามวัยเป็นความสุขของคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็กที่กำลังมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ชอบใช้มือหยิบจับของเล่น หยิบอาหารเข้าปาก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมแต่ก็ต้องเฝ้าระวังเชื้อโรคด้วยเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย และอาจเป็น “โรคมือ เท้า ปาก” ได้

พัฒนาการของลูกน้อยที่เสี่ยงต่อโรค "มือ เท้า ปาก"

ข้อมูลโดยแพทย์หญิงชุติมา กอจรัญจิตต์ และแพทย์หญิงศณิตา ศรุติสุต กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เผยการสังเกตและเฝ้าระวัง “โรคมือ เท้า ปาก” ในเด็กเล็ก ดังนี้

รู้จักโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก นับเป็นอีกโรคท็อปฮิตที่มักแพร่ระบาดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อกันผ่านการสัมผัสเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ทำให้มีไข้ แผลในปาก ตุ่มพองใส มีผื่นแดงหรือตุ่มใส บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น ถึงไม่เป็นโรคร้ายแรงแต่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงฤดูฝน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและเฝ้าติดตามอาการของโรค ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังและศึกษาวิธีป้องกันภัยใกล้ตัวลูกน้อย 

แหล่งที่มีเด็กอยู่เยอะยิ่งเสี่ยง

ในโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก จัดเป็นสถานที่เสี่ยง หากมีเด็กคนหนึ่งติดโรคขึ้นมาก็สามารถติดต่อไปยังเด็กคนอื่น ๆ ได้ง่าย โดยเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสมาจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอจามของเด็กที่ป่วย น้ำจากตุ่มแผล และอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งสารคัดหลั่งพวกนี้จะติดอยู่กับของเล่นและของใช้ต่าง ๆ หากเด็กนำมือที่สัมผัสเชื้อมาเข้าปาก ไม่ว่าจะหยิบของกิน เอาของเล่นเข้าปาก หรือแม้แต่ดูดนิ้ว ก็ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้

พัฒนาการของลูกน้อยที่เสี่ยงต่อโรค "มือ เท้า ปาก"

อาการแบบไหนใช่ “โรคมือ เท้า ปาก” แน่ๆ

ลูกน้อยของคุณจะเริ่มแสดงอาการป่วยภายใน 3 - 6 วันหลังได้รับเชื้อ โดยอาจมีไข้ต่ำหรือสูงก็ได้ จากนั้นอีก 1 - 2 วัน จะเริ่มมีอาการเจ็บปาก น้ำลายไหล ทานอาหารไม่ได้ เนื่องจากมีแผลในช่องปาก ไม่ว่าจะที่ลิ้น เหงือก หรือกระพุ้งแก้ม และเริ่มมีตุ่มน้ำ ตามบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น 

การดูแลเจ้าตัวน้อยหากติดเชื้อ

แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ และควรเช็ดตัวเด็กเป็นระยะๆ เพื่อลดไข้ ควรให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน หรือเป็นอาหารที่เย็น เพราะความเย็นจะทำให้ไม่เจ็บปากขณะรับประทาน หากเป็นเด็กทารกอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวด ปกติอาการของโรคมักหายเองใน 5-7 วัน มักไม่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน

อาการแบบไหนถึงเรียกว่ารุนแรงที่ควรพาไปพบแพทย์ทันที

หากมีอาการซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือนํ้าดื่ม ปวดต้นคอ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก สะดุ้งผวา ตัวสั่น เขียวคล้ำที่บริเวณลำตัว มือ และเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอดได้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยแต่หากเป็นแล้วรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

พัฒนาการของลูกน้อยที่เสี่ยงต่อโรค "มือ เท้า ปาก"

การป้องกันโรค

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ควรสอนและฝึกวินัยเด็กให้ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่ สอนเด็กให้ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอด ผ้าเช็ดหน้า หากรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นต้องใช้ช้อนกลาง ไม่ควรให้เด็กไปเล่นในบริเวณที่พบว่ามีการระบาดของโรค โดยตัวผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กเองต้องล้างมือทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และหลังการดูแลเด็กป่วย

คำแนะนำสำหรับโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ควรหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ ทำความสะอาดเครื่องเล่น ของเล่น และห้องน้ำ อยู่เสมอ หากพบเด็กที่ป่วยควรให้หยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

สามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก Principal Healthcare Company