posttoday

นิวโมคอคคัส สาเหตุหลักโรคปอดอักเสบ

15 กันยายน 2563

แพทย์เตือน “ไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก” รีบพบแพทย์ เสี่ยงติดเชื้อนิวโมคอคคัส สาเหตุโรคปอดบวมและโรคติดเชื้อในกระแสเลือด พร้อมแนะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลโรค

โรคนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Disease) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เกิดจากแบคทีเรียชื่อว่า สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ สามารถพบได้ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนของคนตามช่องโพรงจมูกและลำคอ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือดได้

โรคนิวโมคอคคัสสามารถติดต่อกันผ่านทางใดได้บ้าง?

ผู้ที่มีเชื้ออยู่แต่ไม่มีอาการใดๆ จะเรียกว่า “เป็นพาหะของโรค” และสามารถแพร่เชื้อนี้สู่ผู้อื่นได้เหมือนกับการแพร่เชื้อหวัด คือผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ จาม ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อไป อาจไม่มีอาการเช่นเดียวกัน หรือเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นโดยการไอ หรือ จาม ทำให้มีละอองเสมหะแพร่กระจายออกไป สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสสิ่งปนเปื้อน ซึ่งคล้ายกับการแพร่กระจายของโรคหวัด และไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ แนะให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ควรได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ 

ทางด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสงสัยว่ามีอาการ ไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อนหรือไม่ก็ได้ ให้รีบพบแพทย์

วิธีที่ดีที่สุดในการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค คือการมีสุขอนามัยที่ดีด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปิดปากหรือจมูกด้วยกระดาษทิชชูเมื่อไอหรือจาม
  • ทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงในถังขยะทันทีที่ใช้เสร็จ จากนั้นล้างมือให้สะอาด
  • ล้างมือเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการรับประทานอาหาร ก่อนและหลังการประกอบอาหาร และหลังจากการไอ จาม หรือเข้าห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือชุมชนแออัด 

นิวโมคอคคัส สาเหตุหลักโรคปอดอักเสบ

ข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุ

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อนิวโมคอคคัสง่ายกว่า เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว ดังนั้น การเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่อายุ 50 ปี จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เสมือนการสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกาย 

อันตรายที่คาดไม่ถึง

แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอีนี้ยังทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่นๆ ได้อีก ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และการติดเชื้อแบบลุกลาม หรือไอพีดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งหมายถึงภาวะที่เชื้อสามารถลุกลามผ่านเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ เข้าไปในกระแสเลือดหรืออวัยวะที่ปราศจากการปนเปื้อนใดๆ จากภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น เช่น การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และหากมีอาการรุนแรงมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดขึ้นในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว

โรคนิวโมคอคคัสป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (PCV13) ซึ่งครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ และวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (PPSV23) ซึ่งครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ ซึ่งวัคซีนทั้งสองชนิดนี้สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อโรคนิวโมคอคคัสรุนแรงในประเทศไทยได้ประมาณร้อยละ 68-78 จากเชื้อก่อโรคทั้งหมดประมาณ 90 สายพันธุ์ 

โดยวัคซีนนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ( PVC13 ) แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม 1 เข็ม แก่ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับแข็งเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำในช่องไขสันหลังรั่วซึม ( cerebrospinal leakage )

โดยยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น วัคซีนนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ ( PPSV23 ) แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม 1 เข็ม แก่ผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงและผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคปประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับแข็งเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี ควรได้รับวัคซีนนิวโมคอคคัส23 สายพันธุ์ 1 เข็ม และควรฉีดกระตุ้นทุก 5 ปีจนถึงอายุ 65 ปี

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัส

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับแข็งเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำในช่องไขสันหลังรั่วซึม (cerebrospinal leakage)
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหูชั้นใน (cochlear implant)

ผู้ที่ควร “งด” รับวัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัส

  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัสชนิดใดชนิดหนึ่งในครั้งก่อน หรือเคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (diphtheria toxoid)
  • หากมีไข้ เจ็บป่วยเฉียบพลันควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย มีไข้สามารถรับวัคซีนได้

นิวโมคอคคัส สาเหตุหลักโรคปอดอักเสบ

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน

พบได้ร้อยละ 30 เป็นอาการเฉพาะที่ เช่น เจ็บ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน บางรายอาจมีอาการยกแขนไม่ขึ้น ให้ดูแลโดยการประคบเย็น บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ ปฏิกิริยาอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมได้ เช่น อาการง่วงซึม เบื่ออาหารเล็กน้อย อ่อนเพลีย ร้อนวูบวาบ ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ใน 2-7 วัน หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรพบแพทย์ 

.

ที่มา : กรมการเเพทย์ , โรงพยาบาลพญาไท