posttoday

5 เรื่องเข้าใจผิดของผู้หญิงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

11 สิงหาคม 2563

มะเร็งเต้านมกับความเข้าใจผิดที่ผู้หญิงต้องรู้ โดย นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม ศูนย์เต้านมโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

มะเร็งเต้านม มะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในตะวันตกและเอเชีย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี

5 เรื่องเข้าใจผิดของผู้หญิงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

1) อาหารไขมันสูงของมันและของทอดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง อาหารไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่อาหารบางอย่างจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น อาหารไขมันสูง เมื่อรับประทานมากๆ จะสะสมกลายเป็นไขมันในร่างกาย และเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเพศมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนอาหารพวกเนื้อสัตว์ไม่ได้พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การบริโภคพืชผักหรือไฟเบอร์จะช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วย

2) การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน แม้ในอดีตจะมีหนังสือตีพิมพ์ว่า การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับจะเกิดการบีบรัดระบบน้ำเหลือง ทำให้ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวกและมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงความเกี่ยวพันดังกล่าว การสวมชุดชั้นในขณะหลับจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

3) หากไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมก็จะไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมแค่ 10% และมะเร็งเต้านมในปัจจุบันเกิดขึ้นได้เองมากกว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

4) ผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงเต้านมใหญ่

ข้อเท็จจริง ไม่เป็นความจริง ปัจจัยเรื่องขนาดไม่ได้มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กและใหญ่ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่าๆ กัน

5) ทำแมมโมแกรมบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน อีกทั้งรังสีที่ใช้ในการตรวจแมมโมแกรมมีปริมาณน้อย รวมทั้งการตรวจเช็กแมมโมแกรมเพียงปีละ 1 ครั้งไม่ได้มีอันตรายหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด