posttoday

'โรคตึกเป็นพิษ' ภัยร้ายเลี่ยงยากของคนเมืองปี 2020

01 มกราคม 2563

รู้หรือไม่ ประชากร 1 ใน 3 ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากฝุ่นละออง PM2.5 มลพิษทางอากาศ และความแออัดของที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน

รู้หรือไม่ ประชากร 1 ใน 3 ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากฝุ่นละออง PM2.5 มลพิษทางอากาศ และความแออัดของที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน

คนเมืองในยุคปี 2020 เสี่ยงป่วยด้วยโรค "Sick building syndrome" หรือ "กลุ่มโรคตึกเป็นพิษ" เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร และการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองเมื่อผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร

อาการของโรคตึกเป็นพิษจะปรากฏเมื่อผู้ที่ประสบภาวะนี้อยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • เจ็บตา หรือเจ็บคอ
  • แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก
  • หนาว เป็นไข้
  • ผิวแห้ง เป็นผื่น
  • อ่อนเพลีย
  • หงุดหงิด หรือหลงลืม
  • ปวดหัว ปวดท้อง
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีอาการของภาวะภูมิแพ้ เช่น จาม หรือคัน เป็นต้น
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
  • ไม่มีสมาธิ

นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจหรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้นเมื่ออยู่ในอาคาร เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้ป่วยออกจากอาคาร อาการต่าง ๆ ก็จะหายไป

'โรคตึกเป็นพิษ' ภัยร้ายเลี่ยงยากของคนเมืองปี 2020

สาเหตุของโรคตึกเป็นพิษ

แม้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะ SBS ได้ ดังนี้

  • สารเคมีที่ใช้ภายในอาคาร เช่น น้ำยาถูพื้น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สีที่ใช้ทาภายในอาคาร เป็นต้น
  • อุปกรณ์สำนักงานอย่างจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสงที่เป็นอันตรายต่อสายตา
  • ควันรถ ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
  • เสียงรบกวน
  • อากาศที่ไม่ถ่ายเทภายในอาคาร
  • ก๊าซเรดอน และแร่ใยหินในตัวอาคาร
  • ไฟที่ส่องสว่างภายในอาคาร
  • ความร้อนหรือความชื้นภายในอาคาร
  • จุลชีพต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
  • ความเครียดจากการทำงานหรือการเรียน
  • การป่วยเป็นโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตึกเป็นพิษ

ภาวะ SBS อาจส่งผลถึงชีวิตและการทำงาน เช่น ทำให้คุณภาพงานแย่ลง ตกงาน ต้องย้ายสถานที่ทำงาน หรือทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารและการไปตรวจสุขภาพจากอาการป่วยที่เกิดขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบบ่อยและรุนแรงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน และโรคหอบที่หากอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น

การป้องกันโรคตึกเป็นพิษ

เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ SBS ได้อย่างชัดเจน การป้องกันตนเองจากภาวะนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยไปพบแพทย์เพื่อรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการของภาวะ SBS แย่ลง รวมถึงไม่อยู่ในอาคารนานจนเกินไป และปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  2. เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในสำนักงานที่เก่าและก่อมลพิษ เช่น จอคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ๊น หรือหลอดไฟ เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในสำนักงาน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นต้น
  4. ดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานให้ปราศจากเชื้อโรคและฝุ่น
  5. ลดความเครียดโดยพักสายตาระหว่างทำงาน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักเที่ยง

'โรคตึกเป็นพิษ' ภัยร้ายเลี่ยงยากของคนเมืองปี 2020

ทั้งนี้ กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่งยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น การระบายอากาศที่ดี และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds) มลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้จากทั้งที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ มีความชื้น รอยรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ

นอกจากนี้ คนเมืองยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภทออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ขาดการออกกำลังกาย เพราะพื้นที่ในแนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหาร การขาดการออกกำลังกาย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา คือการปรับปรุงสถานที่ในเป็นมิตรกับสุขภาวะให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดอยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวางในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันการจัดห้องนอนก็ต้องโล่งที่สุด ไม่ควรมีพรมซึ่งเสี่ยงต่อการเก็บไรฝุ่น ผ้าม่านต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาและหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น

ที่สำคัญ คนเมืองยุคนี้ต้องปรับตัวพฤติกรรมตามหลัก 4Es ตั้งแต่ Eating (การกิน), Exercise (การออกกำลังกาย), Environment (ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว), Emotion (ปรับอารมณ์) ให้ถูกสุขลักษณะ และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ หากไปยังสถานที่ใดที่ค่าดัชนีเตือนว่าต้องระวัง ไม่ควรลืมพกพาหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัยและยิ่งเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นมากต้องใส่หน้ากากแบบ N95 ซึ่งป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสได้ ส่วนในกรณีผู้มีประวัติป่วยเป็นภูมิแพ้ ต้องพกยาติดตัวไว้ตลอด เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะต้องไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเมื่อใด