posttoday

โรคเนื้อเน่า อาการติดเชื้อที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนังส่ออันตรายถึงชีวิต

05 พฤศจิกายน 2562

รู้จักกับโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า สาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงวิธีการรักษา การป้องกัน และคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค

รู้จักกับโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า สาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงวิธีการรักษา การป้องกัน และคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค

Necrotizing Fasciitis ชื่อภาษาไทยคือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง อาทิ ไขมันใต้ผิวหนัง ผังผืดและกล้ามเนื้อ จะมีความรุนแรงมาก อันตรายถึงชีวิต หากรักษาไม่ทัน เพราะเชื้อจะทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยกล้ามเนื้อที่มักพบบ่อยคือที่แขน ขา บริเวณแผลผ่าตัด และลำตัว

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Streptococcus และ Staphylococcus aureus เมื่อเชื้อเข้าสู่เนื้อเยื่อโดยผ่านทางแผลที่ผิวหนัง เชื้อจะเจริญอย่างรวดเร็วและหลั่งสารพิษ (Toxin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ มีผลทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นไม่พอทำให้กล้ามเนื้อตาย และเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและลามไปทั่วร่างกาย

อาการของโรค  ได้แก่ มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน เหงือออก เป็นลม ช๊อกหมดหมดสติ

อาการของโรคแบ่งตามระยะเวลาที่เกิดโรค

  • อาการของโรควันที่ 1-2 มีอาการปวดบริเวณที่เกิดโรค บวม และแดง ลักษณะจะคล้ายกับผิวหนังอักเสบหรือไฟลามทุ่ง แต่โรคเนื้อเน่าเกิดในชั้นลึกกว่านั้นซึ่งมองไม่เห็น อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งไม่สอดคล้องกับอาการทางผิวหนังที่ตรวจพบ ไม่ตอบสนองต่อยาปฎิชีวนะ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวหัวใจเต้นเร็ว มีลักษณะอาการขาดน้ำ
  • อาการของโรควันที่ 2-4 พบว่าบริเวณที่บวมจะกว้างกว่าบริเวณผิวหนังที่แดง มีผื่นผุพองซึ่งบ่งบอกว่าผิวหนังขาดเลือด และมีเลือดออก ผิวมีสีออกคล้ำเนื่องจากผิวหนังเริ่มตาย เมื่อกดผิวจะพบว่าแข็งไม่สามารถคลำขอบของกล้ามเนื้อได้ อาจจะคลำได้กรอบแกรบใต้ผิวหนัง เนื่องจากเกิดแก๊สใต้ผิวหนัง
  • อาการของโรควันที่ 4-5 จะมีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่

  1. ผิวหนังมีแผลจากแมลงกัดต่อย อุบัติเหตุถูกของมีคมตำหรือบาด แผลผ่าตัด
  2. คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค
  3. อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
  4. มีการใช้ยา Steroid

โรคเนื้อเน่า อาการติดเชื้อที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนังส่ออันตรายถึงชีวิต

การรักษา ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยหากพบอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น และผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายหรือเนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด ผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก และตัดเนื้อเยื่อที่ตาย หากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า Necrotizing Fasciitis อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจพิการแขนขาจากการรักษาได้เช่นกัน

การป้องกันโรค

  • การดูแลแผล การดูแลแผลจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเนื้อเน่า  เมื่อเกิดแผล รีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ทำความสาดแผลทุกวัน และใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด
  • ระหว่างที่มีแผลควรหลีกเลี่ยงการใช้สระน้ำ และอ่างอาบน้ำร่วมกัน
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนแหละหลังสัมผัสแผลบริเวณที่ติดเชื้อได้ง่าย

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค โดย นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี และโฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิง แฟสเชียไอติส (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย 2 ชนิด คือ Streptococcus pyogenes และ Staphylococcus aureus โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือแผลจากการถูกแมลงหรือยุงกัด แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลาม ทำให้แผลติดเชื้อซ้ำซ้อน

สำหรับประเทศไทย แต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 ราย พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุดคือที่บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ที่สำคัญหากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย

ประชาชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ ฯลฯ

สำหรับการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า แต่หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ทั้งนี้ ถ้าปวดบริเวณแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422