100 ปีชาตกาล สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เรื่อง: สมาน สุดโต
เรื่อง: สมาน สุดโต
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดงานพิธีสมโภชพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนฉบับวาระ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2561-12 ม.ค. 2562 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ประวัติย่อๆ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิด 13 เม.ย. 2460 ที่ ต.บางไทรป่า อ.บางปลา (อ.บางเลน ในปัจจุบัน) จ.นครปฐม ท่านมีพี่น้องที่เกิดร่วมพ่อแม่เดียวกัน 12 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ถึง 11 คน เหลือท่านเพียงคนเดียว พ่อแม่จึงตั้งชื่อว่า “บุญรอด” ส่วนชื่อใหม่ “สุชีพ” นั้นเปลี่ยนตามฉายา “สุชีโว” ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ตอนอุปสมบท เมื่อปี 2480 ลาสิกขา 4 ม.ค. 2495 ถึงแก่กรรม 4 พ.ค. 2543
ขณะดำรงสมณเพศ เรียนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ ที่ พระศรีวิสุทธิญาณ และเป็นเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยสร้างชื่อในนาม สุชีโว
ขณะที่อยู่ในสมณเพศที่วัดกันมาตุยาราม ย่านเยาวราชนั้น สร้างชื่อเสียงให้แก่พระสงฆ์ไทยอย่างมาก กล่าวคือ เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกๆ ที่สามารถเทศนาเป็นภาษาอังกฤษ สามารถแต่งหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือที่เป็นภาษาไทยที่มีชื่อคือ ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ กองทัพธรรม อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก ลีลาชีวิต คุณลักษณะพิเศษทางพระพุทธศาสนา และหลักพระพุทธศาสนา เป็นต้น และเป็นนักพูด นักเทศน์จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศในนามว่า “สุชีโว ภิกขุ”
ในส่วนการสร้างบุคคล ขณะที่ยังอยู่ในสมณเพศ ปี 2480-2495 นั้น ท่านมีศิษย์จำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงในวงการพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ได้แก่ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ (เกิด 17 มิ.ย. 2472 ถึงแก่กรรม 9 ธ.ค. 2509)
ท่านมีส่วนในการก่อตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาหลายแห่ง นอกจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อปี 2488 แล้ว ยังมีส่วนร่วมตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2493 และเป็นผู้นำในการก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
หลังจากลาสิกขาเมื่อลาสิกขา ปี 2495 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นคนแรก เป็นรองผู้อำนวยการองค์การ
ส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) เป็นที่ปรึกษาองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน
ผลงานทางวิชาการที่เด่น ได้แก่ จัดทำพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ตีพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนแรงจูงใจในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับประชาชนนั้น
ท่านเขียนคำนำเมื่อปี 2515 ว่า เมื่ออายุ 17-18 ปี ได้เคยอ่านพระไตรปิฎกที่พระเถรานุเถระแปลไว้เป็นสูตรๆ อ่านแล้วเขียนย่อความสั้นๆ ใส่ในสมุด เพื่อช่วยเตือนความจำว่าพระสูตรที่อ่านแล้วมีสาระสำคัญอะไรบ้าง ต่อมาเมื่อเรียนภาษาบาลีเพิ่มเติมจนแปลพระไตรปิฎกได้เอง จึงได้ทำงานชิ้นนี้ โดยย่อพระไตรปิฎกจาก 45 เล่มให้เหลือ 5 เล่มจบ ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาของตนเอง และเพื่อท่านผู้อ่านผู้มีความประสงค์จะทราบสาระสำคัญย่อๆ แห่งพระไตรปิฎกทุกเล่มตามต้องการ
ส่วน ประเสริฐ เลิศอัศวลักษณ์ เจ้าของร้านหนังสือไตรปิฎก และประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน เล่าเรื่องในนิตยสารสารคดีว่า พระไตรปิฎกสำหรับประชาชนเกิดมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ รวบรวมเรียบเรียงย่อจากพระไตรปิฎก 45 เล่มให้เหลือ 5 เล่ม พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2501 ที่พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวเกิดขึ้นเมื่อปี 2522
สำหรับฉบับใหม่ที่นำมาจัดนิทรรศการในงานสมโภชชาตกาล 100 ปี อาจารย์สุชีพ เกิดจากแนวคิดในการทำรูปเล่มให้น่าดู น่าหยิบ น่าอ่าน โดยยึดตามต้นฉบับเดิม ทำดัชนีค้นคำและเป็นครั้งแรกที่ใส่ภาพที่วาดขึ้นใหม่ ใช้เวลาดำเนินการกว่าจะแล้วเสร็จเป็นเวลา 2 ปี (เริ่มปี 2559) เป็นหนังสือหนา 1,440 หน้า
ในวันสมโภช วันที่ 26 ธ.ค. 2561 ที่มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานนั้น พระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม สยามสแควร์ และกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เขียนความรู้สึกในสมุดเซ็นเยี่ยมว่า
- ได้มาร่วมงานสมโภชพระไตรปิฎกฉบับประชาชนของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในการนี้ได้เป็นประธานสงฆ์ในการเจริญพระพุทธมนต์และอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์สุชีพ พร้อมทั้งได้เดินชมผลงานของอาจารย์ด้วย ในฐานะเป็นศิษย์ของอาจารย์ ได้รับความรู้เรื่องพระสูตรต่างๆ ที่อาจารย์ได้สอนในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์สุชีพได้ทราบแล้วอนุโมทนาในการสมโภชพระไตรปิฎกด้วยเทอญ
- พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้รับนิมนต์สวดมนต์ในคราวเดียวกัน ได้เขียนถึงงานสมโภชและพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนและเล่าประวัติอาจารย์สุชีพด้วย โดยท่านพูดถึงการพิมพ์ฉบับที่นำมาจัดนิทรรศการว่าเป็นฉบับใหม่ล่าสุด โดยพิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รูปแบบและกระดาษคล้ายกับคัมภีร์ไบเบิ้ล ดำเนินการพิมพ์โดยมูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน
ปฏิปทา
ส่วนพระมหาบุญไทย ปุญญมโน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศิษย์รูปหนึ่งของอาจารย์สุชีพ ไปชมงานแล้วเขียนเล่าเรื่องการวางตัวที่เรียบง่าย ความสามารถที่มากล้นของอาจารย์สุชีพ เช่น เมื่ออาจารย์เข้ามาสอนพระไตรปิฎกให้กับพระภิกษุที่เป็นนักศึกษา สมัยนั้นสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยรับนักศึกษาเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสามเณรเท่านั้น ยังไม่มีนักศึกษาฆราวาสเข้าเรียนเหมือนในปัจจุบัน อาจารย์สุชีพเดินเข้าห้องเรียน มีพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งถือติดมือมาด้วย ส่วนมากจะเป็นฉบับภาษาบาลี นอกจากนั้นก็มีชอล์กที่ใช้สำหรับเขียนกระดานดำ
เมื่อเข้ามาก็จะยกมือไหว้พระนักศึกษาเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เริ่มต้นบรรยายในเนื้อหาวิชาโดยนำเอาสาระสำคัญจากพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งขึ้นมาอ้าง อธิบายถึงที่มา ต้นเหตุแห่งการเกิดพระสูตร บริบทของสถานที่ เนื้อหาสาระสำคัญของพระสูตร ที่มาของพระสูตรเป็นพระสูตรประเภทใด ใครเป็นคนถาม หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ต้องแสดงพระสูตรนั้น หรือว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงเอง
ในขณะที่บรรยายจะนั่งนิ่งๆ และหากจะมีการเขียนบนกระดานดำก็จะเดินไปเขียน จากนั้นก็กลับมานั่งบรรยายต่อไป เสียงบรรยายก็ราบเรียบ ไม่มีเสียงหัวเราะ ทั้งห้องเงียบกริบเหมือนอยู่ในป่า แต่พระนักศึกษาไม่มีใครหลับในชั่วโมงนี้เลย เพราะเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง พระนักศึกษาจึงจดบันทึกประเด็นสำคัญ และประเด็นปัญหาที่สงสัย จะได้สอบถามหลังการบรรยาย
เคารพพระสงฆ์เสมอ
เคยมีผู้ถามว่าทำไมอาจารย์ไม่ยืนสอนหนังสือ อาจารย์ตอบง่ายๆ ว่า “เนื่องจากพระนักศึกษามีศีล มีคุณธรรมสูงกว่าอาจารย์ที่เป็นฆราวาส นี่ไม่ใช่การสอน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ บางเรื่องผมก็ไม่รู้ บางเรื่องก็เข้าไม่ถึง พระนักศึกษาอาจจะมีความรู้มากกว่าอาจารย์ ผมก็ต้องการศึกษาในสิ่งที่ไม่รู้ไปด้วย”
พระมหาบุญไทยเคยยกปัญหาถามท่านอาจารย์หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องของเทวดาที่มาถามปัญหากับพระพุทธเจ้า โดยอ้างข้อความจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 15 ข้อ 9 หน้า 30 อาจารย์สุชีพอธิบายให้หมดสงสัย แต่ก่อนจบคำอธิบาย อาจารย์สุชีพยิ้มก่อนจะหันมาบอกว่า “ท่านมหาอ้างพระไตรปิฎกฉบับไหน จึงกลายเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 9 หน้า 30 ฉบับของผมคือภาษาบาลีเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 9 แต่หน้า 3 ชั่วโมงหน้ามาตรวจสอบกันอีกที จากนั้นก็ยกมือไหว้นักศึกษาและเดินออกจากห้องไป วันนั้นพระมหาบุญไทยบอกว่ายิ้มแห้งๆ สารภาพกับเพื่อนนักศึกษาว่า “ผมเจตนาอ้างหน้าผิดไปอย่างนั้นเองแหละครับ ที่จริงถูกต้องตามที่อาจารย์สุชีพพูดถึงนั่นแหละ”
ไม่เคยหยุดค้นคว้าพระไตรปิฎก
การแตกฉานพระไตรปิฎกนั้น อาจารย์สุชีพเคยบอกนักศึกษาว่า อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ได้นับเป็นรอบ ไม่ได้เรียงลำดับ สงสัยหัวข้อธรรมข้อไหนก็เปิดอ่านได้ทันที ผมอ่านไปขีดเส้นใต้สีแดงบ้าง น้ำเงินบ้างเต็มไปหมด เพื่อทบทวนความจำ บางอย่างก็คัดลอกไว้ หนังสือพระไตรปิฎกผมซื้อไว้เป็นสมบัติส่วนตัว จึงขีดเขียนข้อความสำคัญไว้ทุกเล่มที่เคยอ่าน
ช่วงที่อาจารย์สอนที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระไตรปิฎกสำหรับประชาชนยังไม่ได้พิมพ์รวมเล่ม แต่แยกพิมพ์เป็นบางส่วน
ปีนี้หากอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ยังมีชีวิตอยู่ คงมีอายุ 101 ปี ในโอกาสนี้ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุ ภาพ” เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาสำหรับประชาชนผู้ที่มีความต้องการศึกษาพระพุทธศาสนา
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ได้สร้างอาคารหอประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณูปการของบุรพาจารย์ และยังมีรูปหล่อสัมฤทธิ์อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้ที่อาคารแห่งนี้ด้วย
ท่านที่สนใจความเป็นมาพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน และชีวิตและงานของอาจารย์สุชีพ ให้เดินทางไปศาลา 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร เพราะจัดแสดงถึงวันที่ 12 ม.ค. 2562 เท่านั้น