posttoday

10 วิธีกินเจซ่อมไตไม่กินเค็ม ไม่กินเจ(ก็)ไม่เค็ม!

22 กันยายน 2562

เตรียวตัวกินเจให้ได้บุญได้สุขภาพ เจปีนี้ลดเค็ม หยุดเติมเค็มให้เต็มไตกินอย่างไร

เตรียวตัวกินเจให้ได้บุญได้สุขภาพ เจปีนี้ลดเค็ม หยุดเติมเค็มให้เต็มไตกินอย่างไร

10 วิธีกินเจซ่อมไตไม่กินเค็ม ไม่กินเจ(ก็)ไม่เค็ม!

1.กินเจแบบคลีนๆ อย่าหนักแป้ง เนื้อสัตว์เทียม และลดหวาน มัน เค็ม แต่ถึงจะเลิกเจแล้วก็ถอดสูตรความคลีนมาได้เช่นกัน กล่าวคือ ไม่หนักแป้ง ลดแป้ง ลดเนื้อสัตว์ และลดหวานมันเค็มลงให้น้อยที่สุด รวมทั้งซอสปรุงรสทุกชนิด ใส่เท่าที่จำเป็น

2.เน้นรับประทานผัก ผลไม้ปลอดภัย ผักและผลไม้ทุกชนิดต้องล้างให้สะอาด หาความรู้เรื่องการล้างผักและผลไม้แต่ละชนิด ซึ่งวิธีล้างไม่เหมือนกัน แต่อาศัยความทุ่มเทและความเข้าใจ (ในการล้าง) เหมือนกัน

3.ถั่ว เต้าหู้ ใช้วิธีปรุงแบบต้ม อบ หรือนึ่งก็ได้ แต่ไม่ทอด (น้ำมันท่วม) ไม่เพียงเฉพาะอาหารประเภทถั่วหรือเต้าหู้ แต่ผัดผักหรืออื่นๆ ก็กินด้วยวิธีต้ม อบ นึ่ง ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่าการทอดเยอะ

4.บางคนกินเจแล้วไม่อยู่ท้อง เวลาหงุดหงิดขึ้นมา มองซ้ายมองขวาหาของประทัง ก็ขอให้เลือกเป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ถั่วแดง กุยช่าย ฯลฯ ออกเจแล้วก็ใช้กติกาเดียวกัน คือ ไม่เอาของว่างที่เต็มไปด้วยแคลอรี หากเลือกผลไม้ (ที่ไม่หวาน) กล้วย มันม่วง แก้วมังกร ฝรั่งดิบ ซึ่งกินอร่อย และแก้หิวได้ชะงัด

ส่วนของว่างประเภทของขบเคี้ยว ขนมทอด หรือน้ำดื่มอัดลม ขอให้เลิกไปเลยจะดีกว่า ของว่างประเภทนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหนักที่ควบคุมได้ยาก ที่แย่กว่านั้นคือพฤติกรรมเคยชิน ติดการบริโภค

5.อาหารเจส่วนหนึ่งทำจากแป้งล้วนๆ และเนื้อเทียม กุ้งเทียม ปลาเทียม ซึ่งอันตรายเพราะแป้งเยอะ ใครที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโรคเบาหวาน หากบริโภคมากจะส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ ออกเจแล้วก็อย่าหลงลืม บริโภคแป้งมาก (เกินไป) ไม่ดีไม่ว่าเมื่อไหร่

10 วิธีกินเจซ่อมไตไม่กินเค็ม ไม่กินเจ(ก็)ไม่เค็ม!

6.อาหารเจจานด่วนที่เห็นกันตามสตรีทฟู้ด บางทีไม่ได้ปรุงเอง ก็ควบคุมไม่ได้หรอกเรื่องปริมาณโซเดียมที่ไม่เหมาะสม บางทีเห็นเป็นซุปเป็นต้ม ไม่ได้ทอดน้ำมันหรือไม่ได้ใส่น้ำมันก็จริง แต่โซเดียมเกินเพียบ ใครเป็นโรคหัวใจ โรคไต ก็ต้องระวังจงหนัก

หลักในเรื่องการทำอาหารกินเองนี้ ดีตรงที่เราเองสามารถควบคุมปริมาณโซเดียม ซอสปรุงรสต่างๆ ได้ อยากกินแค่ไหนก็แค่นั้น บางคนเหยาะซีอิ๊วแบบไม่ได้เหยาะ เห็นแล้วเท่มาก ออกเจแล้วขอเชิญให้ลองหันกลับมาทำอาหารกินเองกันดีกว่า กินได้...เท่ด้วย

7.เมนูแนะนำคงยึดเมนูผลไม้สดและสลัดผัก ต้มจับฉ่ายช่วงกินเจ ก็สามารถขยับขยายกินได้แม้ออกเจไปเช่นกัน กำกับปริมาณให้ได้น้ำหนัก 400 กรัมต่อวันก็แล้วกัน เป็นไปภายใต้คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

8.กินให้ครบหมู่ จะเข้าเจหรือออกเจ ก็ต้องกิน 5 หมู่ให้ครบ รวมทั้งระมัดระวังเรื่องความสะอาด แนะนำให้ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำเปล่า ทั้งล้างแบบน้ำไหลผ่าน หรือกรณีแช่ล้างก็ต้องล้างให้ถูกวิธี โดยมาตรฐานทั่วไป ขอให้แช่ผักผลไม้ในน้ำส้มสายชูอย่างน้อย 15 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าตาม เพื่อช่วยลดสารเคมีตกค้างหรือยาฆ่าแมลง

9.กินอาหารรสชาติธรรมดา หรือคงสูตร ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด ไม่มันจัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปรุงรสอาหาร กินเจหรือกินคลีน แต่กินรสจัด กินมันจัดหวานจัด โซเดียมคงตกค้างในร่างกาย ภาวะน้ำตาลเกิน ยากถึงยากมากในการรักษาสมดุลร่างกาย

10.เลือกซื้ออาหารปลอดภัย ซื้อจากแหล่งวัตถุดิบที่เชื่อถือได้ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ศึกษาเรื่องการอ่านฉลาก โดยอ่านฉลากก่อนซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง อาหารหรือเครื่องปรุงหลายชนิดนิยมใส่สี ใส่กลิ่น ใส่สารชูรส ทั้งหมดเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ว่าหน้าเจหรือหน้าไม่เจ