posttoday

รณรงค์ประเทศไทย ให้ปลอดวัณโรค

21 สิงหาคม 2561

วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะในปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยใหม่ถึง 1.2 แสนราย/ปี ดังนั้นไทยจะรณรงค์วัณโรคจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกภายในปี 2578

เรื่อง บีเซลบับ / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

จากการคาดการณ์ทางระบาดวิทยา วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยใหม่ถึง 1.2 แสนราย/ปี แต่มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษาเพียง 60% เสียชีวิตปีละ 1.2 หมื่นราย อัตราสำเร็จของการรักษา 80% นี่คือข้อมูลที่นำไปสู่เป้าหมายว่า ไทยจะรณรงค์วัณโรคจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกภายในปี 2578

ล่าสุดคือโครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค (End TB Thailand Project) ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสำหรับควบคุมวัณโรค (TB Grant 2018)

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค และ TB Grant 2018 จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยนวัตกรรมควรสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมกับเครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ใช้วิธีดำเนินงานเชิงรุก จนขยายเครือข่ายและเข้าถึงชุมชนได้ 469 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 2,066 หมู่บ้าน

พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ หากอยู่ในสถานที่ที่แออัด เช่น ในรถโดยสาร แท็กซี่ เครื่องบิน หรือสถานที่ปิด หรือแม้กระทั่งหากมีผู้ป่วยวัณโรคเดินในห้างสรรพสินค้า เกิดไอ จาม พูด หรือร้องเพลง ก็แพร่กระจายเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม วัณโรคไม่ติดต่อง่าย แต่การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา ทำให้มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้การมีภูมิต้านทานร่างกายที่ไม่แข็งแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือคนที่ติดเชื้อวัณโรคแล้ว 100 คน จะมีเพียง 10 คนเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรคอีก

“จากแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ 2560-2564 ความคาดหวังคือการลดอุบัติการณ์วัณโรคลงจาก 172 คนจากประชากร 1 แสนคน ให้เหลือ 88 คนจากประชากร 1 แสนคน”

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้มีมาตรการใหม่ จัดตั้งศูนย์ส่งต่อหรือ TB Referral Center ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค เปรียบเสมือนศูนย์กลางที่คอยประสานและติดตามผลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่อง

รณรงค์ประเทศไทย ให้ปลอดวัณโรค

นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ที่ปรึกษาสำนักอนามัย กทม. เล่าถึงอาการของโรคว่า 80% พบที่ปอด โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ มักมีเสมหะสีขุ่นเหลือง บางรายขุ่นเขียว บางรายไอเสมหะมีเลือดปน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มักมีไข้ต่ำๆ ในตอนบ่าย เย็น หรือกลางคืน จะมีเหงื่อออกมากเวลานอน ในบางรายมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ

การวินิจฉัยทำโดยการเอกซเรย์ปอด การตรวจเสมหะด้วยวิธีย้อมเชื้อ สุดท้ายคือการตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยกำลังป่วยเป็นวัณโรค ได้แก่ การเพาะเชื้อ และการตรวจทางอณูวิทยา ส่วนการรักษา อาจกล่าวได้ว่า การรักษาผู้ป่วยวัณโรคครั้งแรกเป็นโอกาสทองที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคภายในเวลา 6 เดือน

นอกจากยาที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือของผู้ป่วยต่อการรักษาก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ประเทศไทยมีนโยบายให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกคนกินยาโดยมีพี่เลี้ยงกำกับการกินยา เพราะเป็นเพียงวิธีเดียวในปัจจุบันที่มั่นใจได้ว่ายาทั้งหมดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การมีพี่เลี้ยงกำกับเป็นมาตรฐานการรักษาในระดับนานาประเทศ

“ผู้ป่วยวัณโรคจำนวนไม่น้อยที่หยุดยาเอง หรือกินบ้างไม่กินบ้าง พฤติกรรมแบบนี้นำไปสู่ วัณโรคเรื้อรัง ดื้อยาวัณโรค การรักษาจะยาวนานขึ้น และมีเพียง 70% เท่านั้นที่จะหายขาด”

สำหรับแนวทางการป้องกัน ได้แก่ การทำให้ร่างกายแข็งแรง ถือเป็นพื้นฐานของการป้องกันโรค องค์การอนามัยโลกเน้นว่า วิธีการป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุดคือการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดให้หายมากที่สุด

นั่นหมายความว่า ต้องพยายามดูแลให้กำลังใจ สนับสนุนให้ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในระบบการรักษาจนครบ เพราะเมื่อพวกเขาจะหายจากโรค พวกเราจะปลอดภัยนั่นเอง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์ส่งต่อ 488 คน สนใจติดต่อขอรับบริการโทร. 02-860-8208