posttoday

พจนารถ ซีบังเกิด คลายเครียดด้วยการ “โค้ช” ตัวเอง

07 มกราคม 2560

“โค้ช” ก็ต้องการ “การโค้ช” ด้วยเหมือนกัน เรื่องของเรื่องคือ“โค้ชจิมมี่” พจนารถ ซีบังเกิด

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

“โค้ช” ก็ต้องการ “การโค้ช” ด้วยเหมือนกัน เรื่องของเรื่องคือ“โค้ชจิมมี่” พจนารถ ซีบังเกิด ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach Group) ที่ให้บริการการโค้ชด้วยทักษะไลฟ์โค้ช (Life Coaching)พัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับปฏิบัติการในองค์กรชั้นนำ ที่เป็นคนบอกเองว่า “โค้ช”ก็เครียดเป็น

บางวันบางโอกาส อาจต้องเจอกับเรื่องไม่ราบรื่น อาจต้องเจอกับโจทย์ยาก และขึ้นชื่อว่าความเครียดก็ไม่เข้าใครออกใคร ถึงจุดหนึ่งความเครียดผ่อนคลายอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ โค้ชจิมมี่ให้ความเห็นว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต แต่ว่าคนเรามักเผลอนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมาขบคิดแล้วก็กดดันตัวเอง เกิดเป็นความเครียด

“ความเครียดเกิดจากการที่เรากำลังรู้สึกว่าเราจัดการบางสิ่งได้ไม่ได้ หรือจัดการได้ไม่ดี”โค้ชจิมมี่เล่า

 เมื่อถามถึงเคล็ดลับการผ่อนคลายความเครียด ก็ได้ทราบถึงวิธีการที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง  อันดับแรกต้องมีทักษะในการกลับมารู้ความรู้สึกของตัวเอง ฝึกสติให้สำเหนียกกับปัจจุบันว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร

พจนารถ ซีบังเกิด คลายเครียดด้วยการ “โค้ช” ตัวเอง

 

“ทันทีที่เริ่มรู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายใจ รู้สึกถึงความผิดปกติ ก็ต้องหันกลับมาดูว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับเรา เรากำลังรู้สึกอะไร เรียกความรู้สึกนั้นให้ถูกว่ามันคืออะไร  โมโห หงุดหงิด โกรธ ไม่ได้ดังใจ เสียใจ น้อยใจ แล้วค่อยมาตามหาว่าความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร”

เมื่อรู้ว่า “เจ้าสิ่งนั้น”คืออะไรแล้ว สิ่งที่ทำจากนั้นคือ “หายใจ” โค้ชจิมมี่จะใช้วิธีหายใจอย่างแท้จริง เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เรากำลังหายใจ บอกกับตัวเองว่า ร่างกายที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้คือร่างกายของมนุษย์คนหนึ่งที่ยังมีลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ทำซ้ำๆ อย่างมีสติ แล้วจะรู้สึกว่าสภาวะในร่างกายนิ่งขึ้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเวลามนุษย์รู้สึกเครียด ภาวะร่างกายจะไม่ปกติ จะหายใจสั้น ๆ หรือหายใจเป็นห้วง ๆ ทำให้มึนงง ปวดหัว แต่พอหายใจเข้าลึก ๆ ร่างกายได้รับออกซิเจนเต็มที่ ภาวะร่างกายก็จะกลับมาสู่โหมดปกติ

“ร่างกายของเราจะดีขึ้น จะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง แล้วเราก็จะหาวิธีจัดการในเรื่องนั้น ๆ ได้ ความเครียดหายไป แม้จะยังไม่เริ่มการแก้ไขหรือเริ่มลงมือปฏิบัติด้วยซ้ำ”

พจนารถ ซีบังเกิด คลายเครียดด้วยการ “โค้ช” ตัวเอง

 

จิมมี่ แห่งจิมมี่เดอะ โค้ช ผู้เชี่ยวชาญในการโค้ชผู้อื่น เมื่อถึงคราวต้องโค้ชตัวเอง ก็ได้ผลเหมือนกัน แม้เทคนิคหรือวิธีปฏิบัติจะแตกต่างออกไป โค้ชตัวเองก็คือการตั้งคำถามฉุกคิดเพื่อให้ตัวเองได้ตั้งหลัก หรือกำหนดท่าทีต่อปัญหา รับมือกับปัญหาได้ คำถามที่ใช้โค้ชตัวเองเสมอคือ “ภายใต้สถานการณ์นี้ ฉันต้องการอะไร” คำถามจะช่วยให้ได้เริ่มต้นเช็คว่า ปัญหาหรือสิ่งที่เข้ามากระทบ กระทบค่านิยมของเราอย่างไร เช่น ความไม่รับผิดชอบ การไม่นับถือตัวตนของคนอื่น หรือว่าการไม่มีมารยาท การไม่รู้จักกาลเทศะ หรือการไม่รักษาคำพูด

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับโค้ชคนดัง เมื่อเจอแบบนี้จะทำให้เกิดความหงุดหงิดจนถึงขั้นเครียด อีกอย่างหนึ่งที่กระทบค่อนข้างมากคือ ความไม่เป็นมืออาชีพ คำว่าไม่เป็นมืออาชีพคือการรับปากแล้วไม่ทำ หรือทำแล้วแต่ผลลัพธ์ที่ออกมาแบบไม่ได้ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ จะรู้สึกว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“ตอนนี้ยังไม่ได้คิดถึงคนที่ทำให้เราเครียดนะ แค่คิดว่าตอนนี้มันมีเรื่องอะไรกระทบเรา เราก็โค้ชตัวเองไปว่า ถ้าเรื่องนี้มันจะไม่มากระทบเรา เราจะต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมันอย่างไรบ้าง เช่น ถ้ามันไม่ได้แปลว่าไม่เป็นมืออาชีพ แล้วมันคืออะไรได้อีก ตอนนี้สติของเราก็จะกลับมาแล้ว”โค้ชจิมมี่เล่า 

ในท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวันที่จะต้องพบเจอทั้งความสุขและความทุกข์สลับกันไป หลายๆ คนอาจจะเคยพบกับวันที่แย่ที่สุดของชีวิตมาแล้ว สำหรับโค้ชจิมมี่วันที่แย่ที่สุดของเธอคือ การสูญเสียบุคคลสำคัญไปพร้อมกัน 2 คนในวันเดียวกัน

 “ตอนเช้าขณะสอนอยู่ในคลาส  โดยมีน้องโบ (ลูกสาว) ไปช่วยเป็นวิทยากร ได้รับข่าวว่าคุณพ่อของลูกสาว ซึ่งเป็นอดีตสามีของจิมมี่เสียชีวิตอย่างกะทันหันเพราะหัวใจวายเฉียบพลัน ตอนนั้นต้องสอนให้จบหลักสูตร ต้องดูแลสภาวะอารมณ์ของลูกและของตัวเอง และต้องทำอย่างไรให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่กระทบกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ผู้เรียนในคลาส”

ในวันนั้น จิมมี่สอนจนจบวัน ช่วงค่ำของวันเดียวกัน พระจันทร์ทรงกลด เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ได้รับข่าวเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นเพื่อนสนิทและรักที่สุด เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และวันนั้นก็เป็นวันเกิดของคุณแม่ของจิมมี่ด้วย

พจนารถ ซีบังเกิด คลายเครียดด้วยการ “โค้ช” ตัวเอง

 

“หลาย ๆ เรื่องราวมันประดังประเดเข้ามาในวันเดียวกัน ช่วงเช้า คนหนึ่งเสียชีวิต ช่วงค่ำ อีกคนหนึ่งเสียชีวิต ลูกก็อยู่ในสภาวะที่เสียใจมาก วันเกิดคุณแม่ที่เรามีแผนพิเศษไว้ก็ไม่ได้จัดให้ท่าน ภาวะอารมณ์ตอนนั้นสับสนมาก โชคดีที่ยังมีสติ ก็แยกแยะว่า เรามีกี่เรื่องที่ต้องจัดการ แล้วค่อยๆ ดูเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องแรกคืออารมณ์ของเราก่อน อะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา”จิมมี่เล่า

มองให้เห็นทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นรอบตัวเราแล้วเราก็ตีความ ให้ความหมายกับมัน ทีนี้ทุกอย่างมันเกิดขึ้น เราจะอยู่ตรงนี้หรือเราจะไม่อยู่ตรงนี้มันก็คงเกิดขึ้นอย่างนั้นแหละ แต่เราไปตีความ เอาตัวเองเข้าไปบอกว่าสิ่งนี้มันคืออะไรสำหรับเรา ถ้าเราเลิกตีความ เลิกเอาตัวตนโดดเข้าไปเล่นด้วย สถานการณ์เหล่านั้นเราก็จะเป็นผู้ดู เป็นผู้มองเห็น แล้วก็จะรู้สึกดีไปเองเพราะเราไม่ได้คิด ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้พาตัวเองเข้าไปบาดเจ็บ ไม่ได้ต้องเอาอารมณ์เข้าไปรองรับในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น  เราไม่มีเรา และไม่เป็นเราเลยก็จะดีที่สุด

สุดท้ายโค้ชจิมมี่ฝากถึงหลักคิดเรื่องการผ่อนคลายตัวเอง ถ้าเราสามารถทำให้ตัวตนของเราเล็กลงได้มากที่สุดเท่าไหร่ ความเครียดก็จะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายอะไรเราได้เลย เพราะเราไม่มีเรื่องจะต้องมานั่งคิดมาเครียด มาจัดการ ทุกสิ่งมันเป็นไปในแบบที่มันเป็นไปอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าตัวเราจะอยู่ในนั้นด้วย แต่มันก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโลกใบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้

10 คำถามฉุกคิดสำหรับโค้ชตัวเองเมื่อเจอวันที่แย่!

1. ฉันกำลังรู้สึกอะไร เช่น โกรธ, อึดอัดเสียใจ, กังวลใจ ฯลฯ

2. อะไรกำลังเกิดขึ้นกับฉัน เช่น งานที่รับผิดชอบกำลังจะไม่ลุล่วงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้, มีคนกล่าวร้ายในตัวฉัน, คนที่รักจากฉันไป ฯลฯ

3. สิ่งที่กำลังจะเกิดนี้มันจะกระทบอะไรในตัวฉัน เช่น มันทำให้ฉันเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ มันทำให้ฉันเหงา โดดเดี่ยว มันทำให้ฉันดูไม่ดี มันทำให้ฉันอาย ฯลฯ

4. ทำไมฉันจึงรู้สึกเช่นนี้ ฉันตีความมันว่าอย่างไร และทำไมให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้

5. ความรู้สึกนี้ มันหมายความว่าอย่างไรได้อีกบ้าง เช่น ฉันกำลังรู้สึกโกรธ แต่มันอาจจะบอกว่าฉันกำลังกลัวอะไรบางอย่างจะเกิดขึ้นรึเปล่า เป็นต้น

6. ฉันจะแบกความรู้สึกนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

7. ฉันจะแบกความรู้สึกนี้ไปเพื่ออะไร

8. สิ่งที่เกิดขึ้นมันกำลังบอกอะไร และสอนอะไรกับฉัน

9. ถ้าฉันผ่านมันไปได้ ฉันจะเป็นคนอย่างไร หรือฉันจะได้ความรู้หรือทักษะอะไรเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปปรับใช้ในอนาคต

10. ถ้าฉันไม่ตกอยู่ในสภาวะอารมณ์แบบนี้ ฉันจะเอาเวลาไปทำอะไรที่จะมีค่าในชีวิตฉันมากกว่าการจมอยู่ในสถานการณ์และสภาวะอารมณ์แบบนี้