posttoday

เรื่องจริงพลิกคดี เปาบุ้นจิ้นประหารราชบุตรเขย

04 ตุลาคม 2558

คนส่วนใหญ่คงรู้จักเปาบุ้นจิ้น ขุนนางหน้าดำกับหน้าผากพระจันทร์เสี้ยว เที่ยงตรงบริสุทธิ์ยุติธรรม

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

คนส่วนใหญ่คงรู้จักเปาบุ้นจิ้น ขุนนางหน้าดำกับหน้าผากพระจันทร์เสี้ยว เที่ยงตรงบริสุทธิ์ยุติธรรม จนผงซักฟอกยังเอาไปตั้งเป็นยี่ห้อ

เปาบุ้นจิ้นโด่งดังที่จีนมากนับพันปี เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง เปาบุ้นจิ้นเป็นขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง เรื่องราวที่โด่งดังที่สุดของเปาบุ้นจิ้นคงหนีไม่พ้นคดีประหารราชบุตรเขย เนื้อหาคร่าวๆ มีดังนี้

เฉินซื่อเหม่ย บัณฑิตยากไร้เข้าสอบรับราชการในเมืองหลวง สอบได้เป็นจ้วงหยวน (จอหงวน) แถมโหงวเฮ้งดีเป็นที่ถูกใจของฮ่องเต้และองค์หญิง เฉินซื่อเหม่ยตกถังข้าวสารกลายเป็นราชบุตรเขย ปัญหาคือ เฉินซื่อเหม่ยยังมีลูกเมียอยู่ที่บ้านนารอข่าวคราวจากเขาอยู่

ฉินเซียงเหลียน ภรรยาของเฉินซื่อเหม่ย คอยดูแลปรนนิบัติแม่สามี และเรือกสวนไร่นา ระหว่างที่เฉินซื่อเหม่ยเดินทางไปสอบรับราชการที่เมืองหลวง เงินทองก็ใช้ไปกับค่าเรียนค่าเดินทางของเฉินซื่อเหม่ยเกือบหมด เมื่อคาดว่าน่าจะสอบเสร็จแล้วแต่ไม่ได้รับข่าวคราวเลยจึงเกิดสงสัย ได้ก็ควรส่งข่าวดีมา ไม่ได้ก็น่าจะกลับมาเตรียมตัวสอบใหม่

ที่ไหนได้ เฉินซื่อเหม่ยได้เป็นจ้วงหยวน แถมได้เป็นราชบุตรเขย ลืมลูกลืมเมียลืมบ้านเกิดลืมบุญคุณ ไม่คิดกลับบ้านแล้ว

ฉินเซียงเหลียนตัดสินใจฝากแม่สามีให้เพื่อนบ้านดูแล ตัวเองและลูกพากันเดินทางอย่างกระเบียดกระเสียรเข้าเมือง เมื่อมาถึงเมืองหลวงก็รู้ว่า เฉินซื่อเหม่ยสอบได้จ้วงหยวน เป็นบัณฑิตอันดับหนึ่งของแผ่นดิน ดีอกดีใจตามมาหาถึงจวน แต่เฉินซื่อเหม่ยทำเนียนปฏิเสธไม่รู้จัก แถมกลัวอดีตกลับมาเป็นหอกข้างแคร่ จ้างวานมือสังหารไปลอบฆ่าฉินเซียงเหลียน และลูกน้อย

มือสังหารได้รับใบสั่งไม่รู้เหนือรู้ใต้ตามสไตล์นักฆ่า แต่เมื่อมาพบฉินเซียงเหลียนก็ได้รู้ความเลวทรามของเฉินซื่อเหม่ย บอกให้ฉินเซียงเหลียนไปฟ้องท่านเปาที่ศาลไคฟง ตัวเองยอมฆ่าตัวตาย (เพราะไม่ได้ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา)

ฉินเซียงเหลียนตีกลองร้องทุกข์ ท่านเปาก็สืบจนพบความจริง เรียกเฉินซื่อเหม่ยมารับผิด เฉินซื่อเหม่ยรู้ว่าตัวเองเป็นถึงราชบุตรเขย มีแบ็กอัพดี ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งก่นด่าและข่มขู่เจ้าเปาหน้าดำ เปาบุ้นจิ้นไม่เกรงกลัวสั่งถอดยศพร้อมสั่งประหารเฉินซื่อเหม่ย ถึงขนาดไทเฮาและองค์หญิงเข้าห้ามปรามและข่มขู่ แต่เปาบุ้นจิ้นก็ไม่เกรงกลัว ยินดีเอายศตัวเองเข้าแลกความยุติธรรมให้ชาวบ้าน ยืนยันประหารเฉินซื่อเหม่ย

ต่อหน้ากฎหมายทุกคนเท่าเทียมกัน

เปาบุ้นจิ้นตัวจริงในประวัติศาสตร์ได้รับความนับถือจากชาวจีนตลอดมา ก็เพราะความสัตย์ซื่อและไม่เกรงกลัวอำนาจขุนนางหรือแม้กระทั่งพระญาติ หรือแม้กระทั่งองค์ฮ่องเต้ด้วยซ้ำ ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเคยยื่นกล่าวโทษ จางเหยาจั่ว พ่อของสนมคนโปรดของฮ่องเต้ซ่งเหรินจง เพราะว่าฮ่องเต้ซ่งเหรินจงเลื่อนขั้นให้จางเหยาจั่วตามคำขอของสนมจนเกินงาม ถึงขั้นจะให้มาเป็นเสนาบดีดูแลท้องพระคลัง

เปาบุ้นจิ้นถึงขั้นตั้งสภาอภิปรายฮ่องเต้ ประวัติศาสตร์บันทึกว่า เปาบุ้นจิ้นกล่าวโทษจางเหยาจั่วที่มีศักดิ์เทียบเท่าพ่อตาฮ่องเต้อย่างรุนแรง ว่าเป็นปีศาจร้ายตอนเที่ยงวัน เป็นขยะสังคม ยิ่งพูดยิ่งโมโห ก้าวเข้าไปพูดต่อหน้าพระพักตร์จนน้ำลายเต็มหน้าฮ่องเต้ เป็นพฤติกรรมหาที่ตายชัดๆ แต่สุดท้ายฮ่องเต้ซ่งเหรินจงกลับยินยอม และรู้ว่าสำหรับเรื่องบ้านเมืองไม่สามารถทำอะไรตามแค่ใจชอบได้

แต่นั่นก็นับว่าเป็นการสรรหาทางออกกันอย่างสันติ สำหรับเรื่องการประหารพระญาติพระวงศ์ ถ้าในประวัติศาสตร์จีนจะมีก็เป็นเพราะปัญหาการเมืองเท่านั้น ส่วนปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม หรือกฎหมาย ที่ขุนนางจะทำได้บ้างก็คือคัดค้านอย่างสุดตัว เหมือนคำขงจื้อเคยว่าไว้ “โทษทัณฑ์ขึ้นไปไม่ถึงผู้สูงศักดิ์ จรรยามารยาทลงไปไม่ถึงชนชั้นล่าง”

เนื่อเรื่องหนังเรื่องละคร “ประหารราชบุตรเขย” เลยจะไปถือจริงจังคงไม่ได้

แต่เรื่อง “ประหารราชบุตรเขย” ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ และออกจะเป็นเรื่องที่ผิดคาดพลิกล็อกกันซักหน่อย

เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชสมัยฮ่องเต้ซุ่นจื้อแห่งราชวงศ์ชิง ห่างจากยุคเปาบุ้นจิ้นมากว่า 600 ปี มีขุนนางคนหนึ่งชื่อว่า เฉินสูเหม่ย ขุนนางคนนี้มีภรรยาชื่อ ฉินซินเหลี่ยน ทั้งคู่เป็นต้นกำเนิดของเฉินซื่อเหม่ย และฉินเซียงเหลียน ตัวละครหลักของเรื่อง “ประหารราชบุตรเขย”

แต่ เฉินสูเหม่ย เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาไม่ไว้หน้าใคร อันที่จริงมีบุคลิกใกล้เปาบุ้นจิ้น มากกว่าราชบุตรเขยแสนเลวเสียอีก แต่ด้วยความตรงไปตรงมาเหมือนเปาบุ้นจิ้นนี่แหละ ที่ทำให้เฉินสูเหม่ยเจริญในหน้าที่ขุนนาง แต่มักผิดใจกับคนรอบข้างอยู่เนืองๆ รวมถึงเพื่อนสองคนที่ชื่อ ฉิวเมิ่งหลิน หูเมิ่งเตี๋ย

เพื่อนเก่าทั้งสองมาขอให้เฉินสูเหม่ยช่วยบรรจุให้ตัวได้เป็นขุนนาง ปรากฏว่าเฉินสูเหม่ยไม่เอาด้วย ฉิวเมิ่งหลินกับหูเมิ่งเตี๋ยคับแค้นใจ อ้างถึงบุญคุณที่เมื่อก่อนหน้าเคยให้เงินช่วยเหลือเฉินสูเหม่ยตอนตกยาก ไฉนลืมบุญคุณกันได้

เฉินสูเหม่ยคงยึดคติคล้ายๆ เติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตัว ด้วยผลประโยชน์ของชาติ” แต่ฉิวเมิ่งหลินกับหูเมิ่งเตี๋ยใช้คติที่ว่า “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” เนื่องจากพอมีฝีมือในการเขียนบทงิ้วอยู่ จึงเริ่มนำเอาบทงิ้วยอดนิยมเรื่องหนึ่งมาปรับเปลี่ยนให้เผ็ดร้อน กลายเป็นงิ้วเรื่องใหม่ แล้วจัดแจงใส่ชื่อตัวละครหลักว่า เฉินซื่อเหม่ย กับฉินเซียงเหลียน ให้ชื่อเพี้ยนนิดเพี้ยนหน่อย แต่เสียงใกล้เคียง พร้อมระบุบ้านเกิดและแบ็กกราวด์ให้ตรงกับนายเฉินสูเหม่ยเป๊ะ

ส่วนถ้าถึงคราวเจอด่าเจอฟ้องก็อ้างว่าชื่อแค่คล้าย ไม่ได้เหมือน ไม่ต่างกับสมัยนี้จะดิสเครดิตกันในที่สาธารณะแล้วบอกแค่ตัวย่อไม่บอกชื่อ หรือบอกนามแฝง แล้วอ้างว่าไม่ได้เอ่ยชื่อ ร้อนตัวไปเอง เฮ้อ! เทคนิคนี้มีมาแต่โบราณ

บวกด้วยการเขียนละครย่อมต้องเติมแต่งให้อลังการ จากเดิมที่เพื่อนเป็นขุนนางก็ให้เป็นถึงราชบุตรเขย ลืมบุญคุณเพื่อน ก็กลายเป็นลืมลูกลืมเมียทิ้งแม่ เมื่อยิ่งเลวยิ่งใหญ่ ก็ต้องอาศัยคนที่เด็ดขาดเป็นธรรมมาลงโทษ เปาบุ้นจิ้นจึงได้เข้ามาตัดสินคดีนี้

งิ้วได้รับความนิยมอย่างแรง เพราะตอบโจทย์อารมณ์หมั่นไส้ชนชั้นสูงและขุนนาง ยิ่งเป็นเรื่องผิดลูกผิดเมีย ผิดประเพณี อกตัญญูยิ่งเข้าทางชาวบ้านใหญ่  ทิ้งให้เฉินสูเหม่ยหงุดหงิด และคนในหมู่บ้านเฉินสูเหม่ยเท่านั้นที่ต่อต้านงิ้วเรื่องนี้

ภายหลังลูกหลานเฉินสูเหม่ยรุ่นที่สิบเอ็ดจึงออกมาอธิบายต่อสังคมว่า บรรพบุรุษของตนเป็นทั้งขุนนาง ทั้งสามี และทั้งพ่อที่ดี แต่ถูกเอาชื่อเอาที่อยู่ไปป้ายสีในบทละคร

เนื่องจากเป็นการพลิกคดีของบรรพบุรุษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว จึงยังมีบางส่วนที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน บ้างมีรายละเอียดแตกแขนง บ้างก็คัดค้านและอ้างว่าชื่อเฉินซื่อเหม่ยในบทละครมีมาก่อนหน้ายุคขุนนางเฉินสูเหม่ยปรากฏตัว แต่เอาเข้าจริง อยู่ดีๆ บทงิ้วหลังยุคเฉินสูเหม่ยมีตัวตน เปลี่ยนไปใช้ประวัติบ้านเกิดเดียวกัน ใช้ชื่อภรรยาใกล้กับภรรยาเฉินสูเหม่ย ก็จัดได้ว่ามีมูลเหมือนโดนกลั่นแกล้งอยู่

เฉินสูเหม่ยจากโรงละครแห่งโลกไปพร้อมฉินซินเหลี่ยนภรรยาที่อยู่กันจนแก่เฒ่าไม่ได้ทิ้งกันไปไหน แต่บทละคร “ประหารราชบุตรเขย” ยังคงโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้นับเวลาได้กว่า 300 ปี

“ดราม่ายืนยาว ชีวิตสั้น”