posttoday

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

08 มกราคม 2557

ความใฝ่ฝันของใครหลายคน คือ การได้ขึ้นไปท่องอวกาศ แม้แต่คนไทยที่ไปทำงาน ณ องค์การนาซ่า ก็ยังไม่มีใครได้ไปท่องอวกาศจริงๆ สักที

โดย...วราภรณ์

ความใฝ่ฝันของใครหลายคน คือ การได้ขึ้นไปท่องอวกาศ แม้แต่คนไทยที่ไปทำงาน ณ องค์การนาซ่า ก็ยังไม่มีใครได้ไปท่องอวกาศจริงๆ สักที แต่สาวไทยร่างเล็กแต่มีความแข็งแกร่ง พิรดา เตชะวิจิตร์ วิศวกรดาวเทียม ซึ่งนับเป็นหญิงไทยคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์การเดินทางไปสู่อวกาศกับ “แอ็กซ์ อพอลโล” โครงการที่คัดเลือกผู้มีความแข็งแกร่งจากทั่วโลก โดยทุ่มงบการตลาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท คัดเลือกผู้เหมาะสมจาก 62 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่าครึ่งล้านคน แต่มีเพียงคนจากทั่วโลกเพียง 23 คนเท่านั้น ที่จะได้ไปผจญภัยในทริปนี้

ไปพูดคุยกับ พิรดา หญิงไทยคนแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางไปท่องอวกาศ ว่าทำอย่างไรเธอจึงมีโอกาสแบบนี้!

แรงผลักดันได้ไปท่องอวกาศ

อะไรทำให้สาวมิ้งพิรดา เตชะวิจิตร์ วัย 29 ปี ได้เป็นตัวแทนคนไทยไปท่องอวกาศ เป็นเพราะความหลงใหลเรื่องอวกาศ และอยากเป็นนักบินอวกาศมาโดยตลอด ความสนใจผลักดันให้เธอคว้าทุนการศึกษาไปศึกษาต่อด้านดาวเทียมที่ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเธอเป็นวิศวกรดาวเทียมที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ด้วยความสนใจและหลงใหลในอวกาศอย่างแท้จริง เธอจึงสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมกับ “แอ็กซ์ อพอลโล” ด้วยเหตุผลสำคัญเพียงเหตุผลเดียว นั่นคือการคว้าโอกาสในการได้ไปตะลุยอวกาศสักครั้งในชีวิต โดย พิรดา เลือกเข้าร่วมกิจกรรมในทุกช่องทาง ทั้งการส่งรหัสผลิตภัณฑ์แอ็กซ์ร่วมชิงโชค การสมัครเข้ามาร่วมแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ และการเตรียมทำคลิปเพื่อส่งเข้าประกวด แต่สุดท้ายเป็นที่การแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งเธอบอกว่าไม่ได้มั่นใจนักว่าจะชนะ นี่เองที่เปิดโอกาสให้เธอก้าวไปทำตามความฝันได้ในที่สุด หลังจากที่เธอเป็นผู้ชนะในรายการนี้

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

 

“อวกาศเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และท้าทายมาก มิ้งทำงานที่ GISTDA งานของมิ้งก็คือวิศวกรดาวเทียม คอยติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย โดยดูทั้งภาคพื้นดินและบนดาวเทียม ได้คุยกับองค์กรที่อื่นว่าเขาทำภารกิจอะไรบ้าง เคยได้เห็นภาพถ่ายของดาวดวงอื่น ได้รู้ขั้นตอนการเตรียมตัว ตั้งแต่มีมนุษยชาติมา มีเพียง 500 คนเท่านั้นที่เคยขึ้นไปอยู่เหนืออวกาศ เคยเห็นผิวนอกโลก เป็นโอกาสไม่ง่ายเลยที่จะได้คุยกับบุคคลเหล่านี้” อีกทั้งในเรื่องของภาษาและความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินทางไปในอวกาศ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พิรดา ได้เป็น 1 ใน 3 ตัวแทนคนไทยไปฝึกคัดเลือกที่ฟลอริดาร่วมกับเพื่อนๆ จากอีก 62 ประเทศทั่วโลก

เตรียมร่างกายให้พร้อมจากเมืองไทย

หัวใจหลักของการไปท่องอวกาศต้องมี คือ ความแข็งแกร่งของทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกซ้อมเตรียมร่างกายให้พร้อมจากกองทัพอากาศประเทศไทย ที่คนไทยได้มีโอกาสฝึกเข้าไปอยู่ในเครื่องดีดตัวของนักบิน มีการตรวจสมรรถภาพร่างกายเหมือนนักบิน ทดสอบจิตวิทยาเพื่อทดสอบสภาพจิตใจว่ารับแรงกดดันได้มากแค่ไหนหากเจอภาวะเครียด ฝึกหนักทั้งหมดราว 7 วัน

“การจะส่งนักบินอวกาศไปได้ ประเทศนั้นๆ ต้องทุ่มทุนมหาศาลในการส่งไป เวลาขึ้นไปบนท้องฟ้ามีความกดอากาศ ต้องปรับตัวอย่างไร ในสภาวะขาดออกซิเจนต้องควบคุมสติอย่างไร วันสุดท้ายได้ขึ้นเครื่องบินฝูงบินผาดแผลงฟรีนิก ซึ่งไม่เคยให้พลเรือนขึ้นไป เครื่องบินบินเป็นหมู่ๆ ตอนอยู่บนนั้นตื่นเต้นมาก รู้เลยว่ากว่าจะขึ้นบินได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ประทับใจกองทัพอากาศมากที่ให้การสนับสนุนทุกอย่าง อาจารย์จะแนะนำเรื่องการบิน ซึ่งมีเงินก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่เครื่องบินจะขึ้นไปท่องอวกาศจะเกิดแรงจีเยอะ จะมีการดึงเลือดไปอยู่ที่เท้าเยอะ เราจะต้องรู้จังหวะ เราต้องพยายามให้เลือดจากหัวไปเลี้ยงที่เท้าเยอะๆ เราจึงต้องเกร็งร่างกาย ซึ่งกองทัพอากาศจัดให้แรงกว่า คือ เครื่องบินขึ้นด้วยความเร็ว 5 จี ซึ่งเร็วกว่า ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่มากกว่า ใส่ชุดก็เหมือนนักบินจริงๆ ไปคุยกับเพื่อนๆ ที่ไปฝึกที่ฟลอริดาด้วยกัน เขาอิจฉาคนไทยว่าเตรียมตัวกันมาดีขนาดนี้เลยหรือ”

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

 

ฝึกด่านหินที่ฟลอริดา

เมื่อฝึกจากเมืองไทยให้ร่างกายและจิตใจพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ผู้เข้ารอบอีก 2 คน ได้แก่ นพฤทธิ์ แป้นทอง และวิเชียร งามแสง เป็นตัวแทนคนไทยเดินทางไปยัง “แอ็กซ์ โกลบอล สเปซ แคมป์” ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแคมป์ทางอวกาศประจำประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขับเคี่ยวกันในโค้งสุดท้าย ด้วยการร่วมทำภารกิจฝึกฝนตนเองเพื่อให้พร้อมสู่การก้าวขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งต้องผ่านภารกิจที่หนักและกดดันมากๆ โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบไปเข้าร่วมอบรมทั้งหมด 107 คน จาก 62 ประเทศทั่วโลก มาจากเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นอกนั้นเป็นยุโรปกับอเมริกัน แต่คัดให้เหลือแค่ 23 คน แบ่งเป็นหญิง 2 คน ได้แก่ ไทยกับนอร์เวย์ ชาย 21 คน ไปทดสอบทั้งหมด 5 วัน

หัวใจหลักคือ คณะกรรมการต้องการการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ไม่ถ่วงเพื่อน เวลาทำกิจกรรมกลุ่มพยายามมีส่วนร่วมเสมอ อะไรที่พอเป็นผู้นำได้ต้องทำ สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุด คือ การฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย ในเรื่องของความกล้าหาญ ซึ่งใช้คอร์สที่ไว้ทดสอบทางทหารมาใช้ เช่น ปีนผาจำลอง วิดพื้น 50 ครั้ง ซิตอัพ 50 ครั้ง กระโดดข้ามรั้ว ซึ่งเป็นภารกิจที่ถือว่าหนักมากสำหรับผู้หญิง

“กระโดดข้ามรั้วกับปีนผาจำลองหนักมาก จะเป็นลมก็หลายครั้ง จะหยุดกลางคันไม่ได้ ต้องทำให้ครบ และไม่จำกัดเวลา มิ้งต้องให้กำลังใจตัวเองว่า เราทำทุกอย่างแล้ว เหลืออีกนิดเดียว คือต้องใจสู้มากๆ เพราะมีทั้งความกดดันทางร่างกาย ซึ่งเราทำเลยขีดจำกัดของร่างกายมากๆ จึงต้องมีแรงผลักจริงๆ” การทำภารกิจต่างๆ มีการวัดผล ได้แก่ ความกล้าหาญ ความกระตือรือร้น การทำมิชชันต่างๆ ต้องชัดเจน จึงมีล่ามช่วยแปล เพื่อวัดว่าคุณเหมาะสมเป็นนักบินอวกาศในอนาคตหรือไม่

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

 

เมื่อฝึกความแข็งแกร่งของร่างกายแล้ว ต่อด้วยการทำ 3 ภารกิจหลักที่ทำการเรียนและทดสอบ ได้แก่ ภารกิจ “GCentrifuge” หรือการทดลองนั่งในห้องนักบินในสภาวะการขับขี่ยานขึ้นสู่อวกาศจริงแบบซิมูเลเตอร์ เพื่อทดสอบสภาวะร่างกายและลองเปิดรับประสบการณ์จริงภายใต้แรงดันสูงสุดถึง 4.5 จี ภารกิจ “Jet Fighter Flight” การทดลองบินจริงบนเครื่องบินความเร็วมากกว่าความเร็วเสียง พร้อมทั้งลองบินกลับหัวกลางอากาศ และภารกิจ “Zero G Flight” ไฟลต์บินเป็นเส้นโค้งพาราโบลาที่จะพาทุกคนขึ้นไปลองสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักของห้วงอวกาศ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมย่อยอื่นๆ ให้ทุกคนได้เข้าร่วมด้วย อาทิ คอร์สฝึกนักบินอวกาศขนาดย่อมสำหรับตัวแทนจากแต่ละประเทศ การฟังบรรยายเรื่องอวกาศและการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับนักบินอวกาศตัวจริง เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมขึ้นสู่อวกาศอย่างเต็มที่ ไปจนถึงการทดสอบความถนัดทางจิตใจ ฯลฯ ซึ่งทุกภารกิจและกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ได้มาเข้าแอ็กซ์ โกลบอล สเปซ แคมป์ ได้เรียนรู้การเป็นนักบินอวกาศอย่างแท้จริงแบบเชิงลึก

โดย 3 คณะกรรมการ ประกอบด้วย บัซ อัลดริน นักบินอวกาศตัวจริงผู้ลงเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2 ต่อจาก นีล อาร์มสตรอง วิศวกรฝ่ายเทคนิคด้านยานอวกาศ และตัวแทนจากบริษัท สเปซ เอ็กซ์เพอดิชั่น คอร์เปอเรชั่น จะตัดสินเลือกตัวแทนประเทศแต่ละประเทศ โดยใช้เกณฑ์ในการตัดสิน 3 เกณฑ์หลัก ได้แก่ ความกล้าหาญ ความกระตือรือร้น และการทำงานเป็นทีม เพื่อคัดเลือก 23 ตัวแทนมนุษยชาติที่ได้ก้าวขึ้นยานออกไปท่องอวกาศบนความสูงจากพื้นดินกว่า 100 กิโลเมตร

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

 

วันบินไปท่องอวกาศ

วินาทีที่คณะกรรมการประกาศชื่อวิศวกรอวกาศจากประเทศไทยได้รับคัดเลือก เธอรู้สึกช็อก แทบร้องไห้ออกมา และวิ่งขึ้นไปกอดผู้มอบเซอร์ติฟิเคตคล้ายตั๋วเครื่องบินไปท่องอวกาศ

สำหรับไฟลต์ขึ้นสู่อวกาศสำหรับผู้ชนะ แอ็กซ์จับมือกับสเปซ เอ็กซ์เพอดิชั่น คอร์เปอเรชั่น (SXC) บริษัทผู้จัดจำหน่ายไฟลต์ที่นั่งขึ้นสู่อวกาศ โดยแอ็กซ์ได้จองที่นั่งบนยานบินสู่อวกาศไว้ทั้งหมด 23 ที่นั่ง สำหรับแคมเปญนี้โดยเฉพาะ

“ตอนนี้เราก็อัพเดทกันตลอดเวลาว่าจะเริ่มบินกันเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้ไฟลต์ยังไม่คอนเฟิร์ม 100% เพราะตั๋วเต็มมาก เร็วที่สุดคือธันวาปีนี้ เพราะใครที่มีเงิน 7 ล้านบาท และต้องผ่านการทดสอบเพื่อบินสู่อวกาศ ตั๋ว 3 ล้านบท แต่การทดสอบอีก 4 ล้านบาท นับว่าเราโชคดีมากๆ”

ประสบการณ์ที่ พิรดา คาดว่าจะได้เมื่อไปท่องอวกาศ คือ เธอจะได้เห็นโลกจากอวกาศ และจะทำการทดลองบางชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการไปในครั้งนี้

หญิงไทยคนแรก เดินทางไปท่องอวกาศ

“คาดว่าเดือน ธ.ค. เราทั้ง 23 คนน่าจะได้ไปท่องอวกาศ เพราะตั๋วปัจจุบันเต็มมากๆ แต่ตารางคร่าวๆ คือ ไปขึ้นเครื่องบิน ลิงค์ มาร์ค ทู เครื่องบินเจ็ตลำเล็กที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อพาคนไปท่องอวกาศ เพราะขณะลงเครื่องบินจะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศมาก เครื่องบินต้องออกแบบขึ้นไปแล้วต้องบินลงมาได้ กระจกกว้าง ทำให้เราเห็นวิวได้กว้าง เราจะไปขึ้นเครื่องกันที่อเมริกา ที่โมฮาเวย์ แคลิฟอร์เนีย การเตรียมตัวไปท่องอวกาศ คือ เราจะขึ้นไปเหนืออวกาศที่ความสูงจากพื้นดินกว่า 103 กิโลเมตร เสื้อผ้าที่จะใส่คือจัมพ์สูทป้องกันแรงกระแทก แม้เราจะไม่ได้ออกไปในอวกาศ แต่ก็รู้สึกตื่นเต้น เวลาบินจริงๆ จะมีเพียงเราและนักบินเพียง 2 คนเท่านั้น ตอนที่มิ้งอยู่ในอวกาศมีคุณหมอชาวอเมริกาอยากให้มิ้งทดลองเรื่องเมื่อมนุษย์ไปอยู่ในอวกาศอุณหภูมิของร่างกาย หรือสภาวะเลือด การเต้นหัวใจจะเป็นอย่างไร ซึ่งเครื่องมือที่ติดตัวมิ้งไปมีขนาดเล็กนิดเดียว ถือเป็นการไปที่คุ้มค่า ขึ้นไปอยู่ในอวกาศเพียง 1 ชั่วโมง ก็นับว่าคุ้มค่ามากๆ ได้เห็นเปลือกโลกด้วยตาตัวเอง ซึ่งการเตรียมตัวเตรียมใจไม่ต้อง แต่ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอส่วนจิตใจต้องดูแลอย่าทำให้จิตใจเกิดความกดดัน ไม่เครียด โยคะช่วยเรื่องการหายใจ และมีใจที่สู้”หญิงไทยที่ได้ไปท่องอวกาศเป็นคนแรกกล่าว

SXCใช้เครื่องบินพาคนไปท่องอวกาศ คือลิงค์ มาร์ค ทู ซึ่งจะนำพานักบิน 1 คน และผู้โดยสาร 1 คน ทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ด้วยความเร็ว 3,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้เวลาแค่ 3 นาทีครึ่งเท่านั้น ยานลำนี้ก็จะขึ้นมาอยู่ที่บริเวณ 103 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในความสูง 103 กิโลเมตรจากพื้นโลก ผู้โดยสารจะได้สัมผัสกับภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยนักบินจะดับเครื่องยนต์ และให้เวลาราว 6 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารได้ถ่ายรูปและจดจำกับประสบการณ์อันล้ำค่านี้ ก่อนที่จะพากลับมายังพื้นโลก ซึ่งในช่วงขากลับนั้น ยานลำนี้ต้องใช้แรงขับมากกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกถึง 4 เท่า ก่อนที่จะแล่นลงจอดเหมือนกับเครื่องบินทั่วไป สิ้นสุดภารกิจท่องอวกาศที่ใช้เวลารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจนมาถึงพื้นโลก 60 นาที สนนราคาค่าตั๋วเครื่องบินราว 3 ล้านบาท ส่วนค่าทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายอีก 4 ล้านบาท