posttoday

กูเกิลแอสซิสแทนต์ ผู้ช่วยใหม่เวอร์ชั่นไทย

17 พฤษภาคม 2561

หลังใช้เวลาพัฒนากว่า 2 ปี ล่าสุด "กูเกิล" ก็ได้ฤกษ์ส่งผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ "กูเกิลแอสซิสแทนต์" ในเวอร์ชั่นภาษาไทยให้คนไทยได้สัมผัสแล้ว

หลังใช้เวลาพัฒนากว่า 2 ปี ล่าสุด "กูเกิล" ก็ได้ฤกษ์ส่งผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ "กูเกิลแอสซิสแทนต์" ในเวอร์ชั่นภาษาไทยให้คนไทยได้สัมผัสแล้ว

***************************

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ย้อนกลับไป 2 ปีที่ผ่านมา กูเกิลได้เริ่มเปิดตัวระบบผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ กูเกิลแอสซิสแทนต์ (Google Assistant) โดยได้มีการพัฒนาทั้งระบบและฟีเจอร์เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการทั่วโลก ให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงลงในแอพหรืออุปกรณ์โทรศัพท์อื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานระบบกูเกิลแอสซิสแทนต์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ จนถึงปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ที่ 500 ล้านเครื่องทั่วโลก

ล่าสุด กูเกิลได้เปิดตัวระบบกูเกิลแอสซิสแทนต์ในเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยได้ สำหรับใช้งานบนสมาร์ทโฟน โดยจะสามารถใช้งานได้กับโทรศัพท์แอนดรอยด์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.0 โลลิป๊อปขึ้นไป และระบบปฏิบัติการไอโอเอส 9.1 หรือเวอร์ชั่นที่สูงกว่า ผ่านแอพ Google Assistant โดยคาดว่าคนไทยจะใช้งานอย่างเต็มรูปแบบได้ครบทุกคนภายในสัปดาห์หน้า

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคกูเกิลประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟน
ค่อนข้างสูง มีจำนวนกว่า 54 ล้านเครื่อง ซึ่งมีการใช้งานอยู่ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นการเปิดตัวกูเกิลแอสซิสแทนต์เวอร์ชั่นภาษาไทย จะช่วยให้คนไทยสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ภายใต้แนวคิดในการนำระบบดังกล่าวให้เข้าถึงคนไทย เข้าใจคนไทย และให้ชีวิตคนไทยง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ทีมนักพัฒนากูเกิลได้ใช้เวลาพัฒนาเวอร์ชั่นภาษาไทยกว่า 2 ปี เนื่องจากภาษาไทยมีความซับซ้อน พร้อมได้ทำงานวิจัยสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานคนไทยก่อนที่จะเปิดตัวคุณสมบัติหรือฟีเจอร์สำหรับการใช้งานที่เหมาะสมโดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่จะชื่นชอบการสันทนาการ ความบันเทิง การค้นหาแผนที่ การเดินทาง การแปลภาษา การตั้งเวลาปลุก ความสนุกสนานและผ่อนคลาย

ขณะเดียวกันการพัฒนาระบบได้นำเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาใช้งานร่วมกับระบบประมวลเสียง ซึ่งจะช่วยให้ระบบดังกล่าวสามารถเข้าใจบริบทของภาษาไทย มีการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถฟังคำสั่งเสียงเข้าใจในภาษาไทยที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบในอนาคต กูเกิลจะติดตามความนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภค ก่อนที่จะทยอยเปิดตัวคุณสมบัติต่างๆ ที่คนไทยชื่นชอบและต้องการ โดยปัจจุบันกูเกิลมีคุณสมบัติการใช้งานมากกว่า 1 ล้านแอ็กชั่น ส่วนผู้ที่สนใจที่จะพัฒนาต่อยอดการใช้งานในระบบอื่นๆ นอกเหนือจากระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส ก็สามารถเข้าโปรแกรมสนับสนุนของกูเกิลเพื่อนำไปพัฒนาปรับใช้ต่อไปได้

ศารณีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยเป็นตลาดที่สำคัญจากยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูง ทำให้เกิดการพัฒนาสำหรับเวอร์ชั่นภาษาไทยขึ้น ซึ่งเป็นภาษาที่ 10 ที่ได้เปิดตัวทั่วโลก หลังจากเปิดตัวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ฮินดู ญี่ปุ่น เกาหลี และโปรตุเกส

ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาจากนี้ บริษัทจะพัฒนาระบบกูเกิลแอสซิสแทนต์ให้เปิดกว้าง เพื่อรองรับผู้ใช้งาน โดยจะให้เกิดขึ้นทั้งหมด 30 ภาษา ใน 80 ประเทศภายในสิ้นปีนี้