posttoday

เฟซบุ๊กโตช้า แนะหาโซเชียลอื่น

01 มีนาคม 2561

การปรับฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งเปิดโอกาสให้อินสตาแกรมและทวิตเตอร์มาแรงขึ้น แบรนด์จึงควรศึกษาช่องทางให้เหมาะสมและดูว่าสินค้าของคุณต้องการเข้าถึงช่องทางใด

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ในยุคที่การใช้งานโซเชียลมีเดียเติบโตเรื่อยๆ แต่การปรับปรุงฟีเจอร์ของผู้ให้บริการออนไลน์ อาจส่งผลเชิงลบ เพราะแบรนด์ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านั้นโดยตรงต้องเหนื่อยกว่าเดิม และมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงลูกค้าที่ดีกว่าเดิม

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โธธโซเชียล กล่าวว่า การปรับฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งเปิดโอกาสให้อินสตาแกรมและทวิตเตอร์มาแรงขึ้น แบรนด์จึงควรศึกษาช่องทางให้เหมาะสมและดูว่าสินค้าของคุณต้องการเข้าถึงช่องทางใด
แม้ว่าการใช้จ่ายต่อโพสต์ของแบรนด์จะถูกบังคับให้ต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่วันหนึ่งเมื่อจ่ายไปแล้วไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี แบรนด์ก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ให้ทันกระแสและช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ดังนั้นแบรนด์ควรเลิกยึดติดว่าเฟซบุ๊กคือสื่อฟรี แต่ต้องหาเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

"เม็ดเงินในช่องทางออนไลน์แม้จะมีการเติบโตแต่ตัวเลขไม่ได้สูง หากเฟซบุ๊กยังบังคับให้ต้องจ่ายต่อโพสต์มากๆ แบบนี้ อาจไม่ใช่หนทางที่ดีนัก" กล้า กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการโพสต์ข้อมูลบนช่องทางโซเชียลมีเดียกว่า 3,600 ล้านข้อความ สิ่งที่พูดถึงแต่ละไตรมาสบ่งบอกให้รู้ว่าชาวไทยสนใจเรื่องอะไร เช่น ไตรมาสแรกปีก่อน คือการเกิดขึ้นของรายการเดอะมาสก์ ซิงเกอร์ที่ทำให้รู้จักหน้ากากทุเรียนเป็นครั้งแรก กลางปีเป็นเรื่องความโด่งดังของน้องเจ้านาย และปลายปีเป็นดราม่าของโรคซึมเศร้าทำให้นักร้องต่างชาติ ฆ่าตัวตาย ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า คนไทยสนใจข่าวบันเทิงมากที่สุด

หากแบ่งเป็นค่าเฉลี่ยจากการวัดข้อมูล พบว่ามีคนพูดถึงแบรนด์ฝั่งธุรกิจ 30 ล้านข้อความ แต่พูดคุยเรื่องบันเทิงถึง 300 ล้านข้อความ โดยใน 300 ล้านข้อความ แบ่งเป็น ศิลปินชาย 52.5% รายการทีวี 29.7% และนักแสดง 5.9%

กล้า กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารตลาดควรเลือกคนให้เหมาะกับสินค้าหรือข้อความหลักที่ต้องการสื่อสารมากกว่าตัวบุคคล เพราะคนในโซเชียลจะเชื่อในตัวตนของคนที่สื่อสารออกมามากกว่าแบรนด์ที่ใช้งาน

ด้าน พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันบิต แมท เทอร์ กล่าวว่า การเติบโตของแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊กเริ่มช้าลง อาจเพราะเกือบทุกคนมีเฟซบุ๊กกันแล้ว ทำให้ค่าโฆษณาสูงขึ้น ทั้งแบรนด์และเอเยนซีจึงต้องปรับกลยุทธ์และแผนตลาดใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนและเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากแบรนด์ต้องการขยายตลาดไปอินเดีย การเลือกใช้เฟซบุ๊ก อาจเป็นทางเลือกที่ดีเพราะมีผู้เล่นเยอะจนแซงสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดของเฟซบุ๊กเสียอีก ส่วนประเทศไทยอินสตาแกรมและทวิตเตอร์เติบโตดี รวมทั้งการโพสต์ได้หลายรูปของอินสตาแกรมช่วยเรื่องแบรนด์ในการขายสินค้าดีขึ้น

จากข้อมูล พบว่าประเภทของการโพสต์ คนไทยมีการโพสต์รูปในอินสตาแกรมอยู่ที่ 71% ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 96% รองลงมาคือ การโพสต์หลายรูปพร้อมกัน (Carousel) อยู่ที่ 24% และวิดีโอ จากเดิมอยู่ที่ 4% เพิ่มขึ้นมาเป็น 5%

ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวก่อนถอยหลังและไม่มีที่ยืน จึงต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โซเชียลมีเดียใดมาแรงก็ควรเรียนรู้และพร้อมเปลี่ยนทันที รวมทั้งนำข้อมูลที่มีในมือมาวิเคราะห์และสร้างโอกาสทางรายได้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีการลงทุนพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยตอบโจทย์การทำงานและวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น คาดว่าจะเปิดตัวไตรมาส 3 รวมทั้งพัฒนาฝีมือของพนักงานให้สามารถช่วยเหลือและวิเคราะห์ข้อมูลให้ลูกค้าได้ดีกว่าเดิม