posttoday

ในเศรษฐกิจดิจิทัล

27 มกราคม 2561

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence - AI) ได้

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล ภาพ : เอพี/เอเอฟพี/อีพีเอ

 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence - AI) ได้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้ จนกลายเป็นเทรนด์เอไอในปี 2018

 ปัจจุบันเริ่มเห็นเอไอทำในสิ่งที่มนุษย์เคยทำได้ และไม่เคยทำได้ที่เกินขีดความสามารถของมนุษย์ เห็นได้จากการที่เอไอสามารถเอาชนะมนุษย์ที่เก่งหมากโกะที่สุดในโลกได้ ซึ่งสะท้อนกระบวนการพัฒนาวิธีคิดและการตอบสนองที่สลับซับซ้อนของเอไอว่าได้เลยขีดขั้นของมนุษย์ไปแล้ว

 หากย้อนกลับไปในปี 2560 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้เผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อ “อาเซียนในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน : เทคโนโลยีจะเปลี่ยนตลาดงานและธุรกิจไปอย่างไร” (ASEAN in Transformation : How Technology is Changing Jobs and Enterprises) ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่อ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 4.รับเหมาช่วง (Business process outsourcing) และ 5.ค้าปลีก  

ในเศรษฐกิจดิจิทัล

 จากงานวิจัยดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยจักรกลอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานประกอบชิ้นส่วนและสายงานทักษะต่ำในอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยร้อยละ 68 ของแรงงานในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเช่นกัน

 รายงานนี้สอดคล้องกับรายงานขององค์กรหุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics : IFR) ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2562 โรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกจะมีการติดตั้งหุ่นยนต์และจักรกลอัตโนมัติกว่า 1.4 ล้านเครื่อง งานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทักษะสะเต็ม (STEM ศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)  หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน) ในหมู่แรงงานทั่วไป ขณะที่การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ Big data analytics Internet of Things และการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดงานในภูมิภาคอาเซียน

 มาสำรวจกันว่าการรับมือกับแรงงานปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในเมืองไทยกำลังตื่นตัวกันขนาดไหน

กระแสการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเอไอ

 ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence : AI) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดเองได้ หรือมีปัญญา

 ในการจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ความมั่นคงทางอาชีพและทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในยุคจักรกลอัตโนมัติ” (Job Security and Human Skills in the Age of Automation) โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายผนึกกำลังของทุกภาคส่วนกำหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับทักษะแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบให้บางสาขาอาชีพหายไปจากตลาดแรงงาน

 ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอว่าการก้าวเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ทั้งกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน หากสถาบันการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และไม่รีบเร่งปลูกฝังทักษะที่จำเป็นให้กับเด็กๆ ประเทศไทยอาจต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตแรงงานครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 “โลกอนาคตเรียกร้องให้เราต้องมีทักษะชุดใหม่ ถ้าเด็กและเยาวชนไม่มีทักษะเหล่านี้ พวกเขาจะไม่สามารถปรับตัว ไม่สามารถมีงานทำ และไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ อย่างที่ต้องการเช่นกัน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเริ่มลงมือแก้ไขตั้งแต่บัดนี้”

 ทางด้าน ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารพาณิชย์ปิดสาขาไปถึง 200 แห่ง และแนวโน้มของบริษัทข้ามชาติที่เคยผลิตในประเทศที่ต้นทุนค่าแรงงานถูก ก็จะย้ายกลับไปประเทศพัฒนาแล้ว

 "เพราะหุ่นยนต์และเอไอจะทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการย้ายกลับก็ทำให้อยู่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากกว่านั้น จึงทำให้ไทยต้องเผชิญความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 ในช่วงเวลาที่พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก้าวหน้าไปอย่างมาก จักรกลอัตโนมัติได้เข้ามาทำหน้าที่หลายอย่างแทนแรงงานมนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์ได้ท้าทายความจำเป็นของการจ้างแรงงานทักษะสูงในหลากหลายแขนง การเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวกระโดดในวงการอุตสาหกรรม กับความล้าหลังของกิจกรรมด้านการศึกษาและสาธารณสุขในเชิงของการใช้เทคโนโลยี พัฒนาการดังกล่าวนี้นำไปสู่ความไม่มั่นคงของอาชีพและการจ้างงาน

 ฟุ เหวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สะท้อนมุมมองจากผลศึกษาเรื่องอาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน : อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ (ASEAN in Transformation : The Future of Jobs at Risk of Automation) ซึ่งสำรวจความคิดเห็น 4,000 บริษัท และนักเรียนนักศึกษา 2,700 คน ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ระบบจักรกลอัตโนมัติที่ทดแทนแรงงานคน ปรากฏชัดในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน เนื่องจากกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานในภูมิภาคโดยเฉลี่ย 40% เสี่ยงจะได้รับผลกระทบนี้

ในเศรษฐกิจดิจิทัล

 “สำหรับไทยนั้นอาจมีแรงงานถึง 17 ล้านคน เสี่ยงจะถูกระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ และมีโอกาสเกิดกับแรงงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 50% ขณะที่แรงงานที่จบระดับประถมศึกษาเสี่ยงตกงานมากกว่าระดับปริญญาตรีถึง 90%”

 ฟุ เหวียน ย้ำว่าทักษะการทำงานที่คนรุ่นใหม่ควรจะมี ประกอบด้วยความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ การปรับตัวให้ทำงานได้ในขอบเขตงานและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการสื่อสาร พร้อมกับการมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

 การตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับวงการเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมสุขภาวะ ทั้งในเรื่องความมั่นคงของชีวิตในระบบเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำ สถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกล และบทบาทของวิศวกรรมเทคโนโลยีต่อการวิศวกรรมสังคม

 รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีคณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติที่จะมาทำงานแทนมนุษย์ แรงงานในบางสาขาอาชีพอาจไม่มีอีกต่อไป ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางใหม่ ทั้งปรับระบบการศึกษาและทักษะแรงงานให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว

 “ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรองรับโลกแห่งเทคโนโลยีและอาชีพใหม่ๆ จะได้รับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน”

จริยธรรมของเอไอ ถึงเวลาออกกฎหมายกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์

 สิทธิพลเมืองของปัญญาประดิษฐ์ที่มีอิทธิพลของมนุษย์ในด้านต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบัน และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด การสัมมนาวิชาการเรื่อง "ความรับผิดในการกระทำทางละเมิดของปัญญาประดิษฐ์" (Artificial Intelligence - AI) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เปิดให้เห็นภาพรวมว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาถึงจุดที่มีความแม่นยำมากขึ้น

 “ทำให้คนเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าเอไอมีผลต่อชีวิตคนเราอย่างไรบ้าง เพราะเอไอมีความชาญฉลาดมากขึ้นทำให้คนรู้สึกกลัว เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ เอไอจะมาเป็นอันดับแรก นี่เป็นลิสต์ในกลุ่มดิจิทัลกรุ๊ป”

  สำหรับ 5 อุตสาหกรรมที่เอไอจะเข้าไปทดแทนคน คือ 1.การดูแลสุขภาพ (Healthcare) 2.การตลาด (Marketing) 3.วิถีชีวิต (Lifestyle) 4.การคมนาคม (Transportation) และ 5.การเงิน (Finance) ศ.ดร.ธนารักษ์ ชี้ว่าเอไอมาแน่

 “ตอนนี้พวกเราอยู่ในยุคเริ่มต้นของเอไอ ถือเป็นยุคแรกๆ เอไอสามารถเล่นโกะชนะมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่คิดเก่งมาก”

 สำหรับจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Ethics of Artificial Intelligence) ประกอบด้วยความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใสและความยุติธรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลความน่าเชื่อถือของเอไอ และความเสี่ยงในการนำไปใช้ในทางที่ผิด เป็นศีลธรรมและคุณค่าของปัญญาประดิษฐ์

ในเศรษฐกิจดิจิทัล

 ศ.พิเศษ วิชัย อริยะนันทกะ ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มองว่าเอไอมี 3 สถานะในปัจจุบัน 1.เอไอในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน ลิขสิทธิ์จะเป็นของใคร 2.เอไอในฐานะผู้สร้างความเสียหาย ความรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิด ซึ่งอาจจะเป็นความรับผิดทางแพ่งหรืออาญา และ 3.การพัฒนาขั้นต่อไปของกฎหมายเอไอ ต้องให้สภาพบุคคลเอไอหรือไม่? จะให้สิทธิ หน้าที่ ให้ความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้หรือไม่?

 “ถ้าได้ก็ไม่แปลก เพราะกฎหมายไม่ได้ให้สภาพบุคคลเฉพาะบุคคลธรรมดา แต่กฎหมายสร้างนิติบุคคลมาเป็นเวลานาน แล้วนิติบุคคลสามารถมีสิทธิมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ถ้าเอไอมีฐานะระดับนั้นได้สร้างสรรค์งานในระดับนี้ มีการบริหารจัดการสิทธิผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสามารถให้สถานะความเป็นบุคคลพิเศษขึ้นมาได้”

 ศ.พิเศษ วิชัย บอกว่านิยามของปัญญาประดิษฐ์ก็ต้องแตกต่างกับปัญญาที่เป็นธรรมชาติ ในที่สุดแล้วต้องนึกถึงนิติบุคคลจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

 “สรุปคือเอไอมีนิยามว่าการตัดสินใจของหุ่นยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งหรือชุดคำสั่งที่สร้างขึ้น มิใช่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่แน่นอน แต่เอไอเหนือกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถให้คอมพิวเตอร์รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์แล้วก็ไปประมวลผลข้อมูลที่ได้รับคำสั่งอัตโนมัติให้หุ่นยนต์หรือเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ ดังกล่าวกระทำการ หรือไม่กระทำการใดๆ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง เพื่อให้เกิดผลหรือระงับผลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง โดยปราศจากการสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดของมนุษย์หรือร่วมกับมนุษย์”

 จากความคืบหน้าสถานการณ์เอไอในปัจจุบัน ดีปไมนด์ (DeepMind) บริษัทพัฒนาเอไอในเครือของกูเกิล เตรียมฟอร์มทีมนักวิจัย DeepMind Ethics & Society (DMES) ที่จะคอยควบคุมพฤติกรรม และผลกระทบที่อาจเกิดจากเอไอในอนาคต ทั้งจากปัญหาการลำเอียงของเอไอ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากระบบอัตโนมัติ และตรวจสอบให้มั่นใจว่าเหล่าปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนามีจริยธรรมและคุณธรรมของมนุษย์ โดยเริ่มงานต้นปี 2018 ที่ผ่านมา

 ผศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีศูนย์ลำปาง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ถึงประเด็นที่สหภาพยุโรปต้องทำเรื่องจริยธรรมของเอไอขึ้นมา เพราะพบว่าเกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล และกำลังเข้าสู่ยุคโรบอต อีโคโนมี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อมนุษย์

ในเศรษฐกิจดิจิทัล

 “เพราะงานหลายประเภทจะมีการใช้หุ่นยนต์มาแทนมนุษย์ ก็จะส่งผลถึงแรงงานที่อยู่ในสหภาพยุโรป เพราะฉะนั้นเขาจึงเตรียมตัวว่าจะออกกฎหมายที่จะรับรองมนุษย์ว่าจะอยู่รอดได้อย่างไรบ้าง รวมถึงความสัมพันธ์ที่จะอยู่ร่วมกันในหลายลักษณะ เช่น ในอนาคตหุ่นยนต์อยู่ในบ้าน ซึ่งใช้ดูแลคนชราหรือเลี้ยงเด็กก็ต้องมีความผูกพันกัน สหภาพยุโรปเล็งเห็นตรงนี้ก็เลยจะมีการออกกฎหมาย ซึ่งแบบฟอร์มของนักกฎหมายก็ต้องเริ่มด้วยสิทธิหน้าที่และการรับผิด”

 ผศ.ดร.ภูมินทร์ บอกว่าต้องแยกโรบอตกับเอไอ เอไอจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ เอไอที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง กับกลุ่มที่ 2 คือ เอไอที่มีสามัญสำนึกกับเอไอที่ไม่มีสามัญสำนึก

 “ในสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายมา 2-3 เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องโรโบติก เรื่องแรกการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ในฝรั่งเศสก็มีการออกกฎหมายดิจิทัล รีพับลิก ถ้าเป็นเจ้าของเอไอ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหรือสาธารณะ เป็นหน้าที่ของคนพัฒนาเอไอที่ต้องเปิดเผยให้กับสาธารณชนรู้ในบางเรื่อง หากเอไอเป็นทรัพย์สิน เอไอบางตัวมีอายุมากกว่าร้อยปี ส่วนคนหรือนิติบุคคลอาจตายหรือปิดตัวไปแล้วก่อนหน้า ก็ต้องมาดูว่าจัดการอย่างไร”

 สิ่งหนึ่งที่แยกระหว่างมนุษย์กับเอไอ ผศ.ดร.ภูมินทร์ เปิดให้เห็นว่าคือมนุษย์มีครีเอทิวิตี้ หมายถึงความคิดสร้างสรรค์

 “มีการถกเถียงกันว่าจะให้สภาพของเอไอเป็นเสมือนสัตว์หรือไม่ ถ้าจะให้คุ้มครองเท่ามนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องการรับรู้และประสาทสัมผัส ในสหภาพยุโรปมีเสียงแตกออกเป็นสองเสียง คือให้สถานะเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์แบบเดียวกับนิติบุคคล กับไม่ให้เลย และมีการเสนอให้เป็นกองทุนเอไอเพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากเอไอ แต่ทั้งหมดเป็นแค่รายงานการศึกษาอยู่”