การเจรจาการค้าจีน-สหรัฐคืบหน้า อาจยืดออกไปเป็นวันที่สาม
สหรัฐฯ–จีน เดินหน้าเจรจาควบคุมการส่งออกเป็นวันที่สองเต็มในลอนดอน หวังคลี่คลายข้อพิพาทการค้า ล่าสุดการเจรจาอาจยืดไปถึงวันพุธ
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งจัดขึ้นในกรุงลอนดอนดำเนินเข้าสู่วันที่สองเต็ม โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยดีและอาจยืดเยื้อไปถึงวันที่สาม ทั้งสองฝ่ายพยายามหาทางบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการส่งออกซึ่งเคยเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเปราะบางของข้อตกลงระงับภาษีที่เพิ่งได้ข้อยุติเบื้องต้นในเจนีวาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นายสก็อตต์ เบสเซนท์ เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางกลับกรุงวอชิงตันเพื่อภารกิจเดิมที่กำหนดไว้ แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ นายโฮเวิร์ด ลัทนิก และผู้แทนการค้า นายเจมิสัน เกรียร์ จะยังคงอยู่เพื่อดำเนินการเจรจาต่อไปหากจำเป็น
นายลัทนิกให้สัมภาษณ์ที่อาคารแลนคาสเตอร์เฮาส์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเจรจา ว่า “การพูดคุยเป็นไปด้วยดีมาก ทุกคนมีสมาธิ ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” พร้อมระบุว่าหากยังไม่สามารถสรุปข้อตกลงได้ในคืนนี้ คณะผู้แทนสหรัฐฯ ก็พร้อมจะอยู่ต่อถึงวันพุธ
แม้รายละเอียดของการหารือจะยังไม่ถูกเปิดเผย แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดทำเนียบขาวระบุว่า การพูดคุย “เป็นไปอย่างราบรื่น” หลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงชะลอการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแบบเต็มรูปแบบในรอบแรกที่เจนีวา ปัจจุบันการเจรจามุ่งเน้นไปที่การควบคุมการส่งออก ซึ่งแต่ละฝ่ายกล่าวหากันว่าใช้เป็นเครื่องมือกดดันห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว นายเควิน แฮสเซ็ตต์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ อาจยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกที่เพิ่งบังคับใช้ เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ หากจีนเร่งการส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ความขัดแย้งเกี่ยวกับแร่หายากได้สร้างความตื่นตระหนกในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก หลังจากข้อตกลงลดภาษีเบื้องต้นที่เจนีวาช่วยคลายความกังวลเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้นโยบายภาษีที่ผันผวน ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดโลก ก่อให้เกิดความแออัดในท่าเรือหลัก และสร้างต้นทุนทางธุรกิจจำนวนมหาศาล ทั้งในรูปของยอดขายที่สูญเสียและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 ลง 0.4% เหลือเพียง 2.3% โดยชี้ว่า ภาษีที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเกือบทุกประเทศ
ข้อมูลศุลกากรจีนที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ยังระบุว่า ยอดส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 34.5% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19