posttoday

Goldman Sachs คาด AI จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาน้ำมันโลกในอีก 10 ปี

04 กันยายน 2567

Goldman Sachs หนึ่งในกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนและกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคาด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาน้ำมันในอีก 10 ปีข้างหน้า

Goldman Sachs หนึ่งในกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนและกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเผยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่ออุตสาหกรรมพลังงาน โดยระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อราคาน้ำมันในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากจะช่วยเพิ่มอุปทานน้ำมันผ่านการลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มปริมาณทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า

ที่ผ่านมา การวิเคราะห์ผลกระทบของ AI ต่ออุตสาหกรรมพลังงานมักเน้นไปที่ด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการคาดการณ์ว่าจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันลดลงจริงตามที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้รายได้ของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น กลุ่มประเทศสมาชิก OPEC+ ลดลงตามไปด้วย

Goldman Sachs ระบุในรายงานว่า AI อาจช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันด้วยการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal  price) ลดลง 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ทั้งนี้ Goldman คาดว่า AI จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในช่วง 10 ปีข้างหน้า

"เราเชื่อว่า AI น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาน้ำมันในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากผลกระทบเชิงลบจากการลดต้นทุน (ประมาณ -5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ซึ่งเป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันในระยะยาว น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าผลบวกจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ (ประมาณ +2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)" - Goldman 

ตามการประเมินของ Goldman Sachs เทคโนโลยี AI อาจช่วยลดต้นทุนในการขุดเจาะบ่อน้ำมันจากหินดินดานได้ถึง 30% นอกจากนี้ หากอัตราการนำน้ำมันกลับมาใช้ใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10-20% จากการใช้ AI ก็อาจส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันเพิ่มขึ้น 8-20% (ประมาณ 1-3 หมื่นล้านบาร์เรล)

ณ วันที่ Goldman Sachs เผยแพร่รายงานฉบับนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลดลง 3.51 ดอลลาร์ หรือ 4.5% มาอยู่ที่ 74.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate ปรับตัวลดลง 2.97 ดอลลาร์ หรือ 4.1% มาอยู่ที่ 70.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม

ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ กำลังพยายามเข้าซื้อสินทรัพย์ด้านพลังงานที่ถือครองโดยนักขุดบิตคอยน์ เพื่อรักษาแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับระบบคลาวด์ใน Data Center และเทคโนโลยี  AI ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว