posttoday

Climate Change เป็นเหตุ อาหารทะเลกระทบหนัก

01 กรกฎาคม 2566

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและมลพิษ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทำให้ 90% ของแหล่งอาหารทะเลทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยประเทศผู้ผลิตชั้นนำเช่น จีน นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา อาจต้องรับผลกระทบสูงสุด

"อาหารทะเล" ซึ่งประกอบไปด้วยปลา หอย พืช และสาหร่ายมากกว่า 2,190 สายพันธุ์ รวมถึงอีก 540 สายพันธุ์ที่ถูกเลี้ยงในแหล่งน้ำจืด ถือเป็นแหล่งอาหารที่ช่วยปากท้องประชากรกว่า 3.2 พันล้านคนทั่วโลก 

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Sustainability ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีการดำเนินงานที่เพียงพอเพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มขึ้น

Rebecca Short นักวิจัยจาก Stockholm Resilience Center และผู้ศึกษางานดังกล่าวระบุว่า

"แม้เราจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ้าง แต่กลยุทธ์การปรับตัวทางด้านอาหารทะเลที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมนั้นยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องได้รับการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน"

การผลิตมากเกินไปในแวดวงอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งซึ่งผลักดันให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้น ตัวแปรอื่นๆก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของอาหารทะเลเช่นกัน 

ซึ่งรวมถึงระดับและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ค่าความเป็นกรดในน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ตลอดจนปัจจัยอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเช่น ปรากฎการณ์ Algae Bloom หรือการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสาหร่ายในแหล่งน้ำ มลพิษจากปรอท และการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงหรือยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ ประเทศหมู่เกาะหรือประเทศที่ต้องพึ่งอาหารทะเลในการดำรงชีวิตจะได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะมีสนธิสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทะเลหลวง แต่ความเสี่ยงอื่นๆยังมีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้นได้