posttoday

มาเลเซียประณามยุโรปปิดกั้นการเข้าถึงตลาดของน้ำมันปาล์ม

24 ธันวาคม 2565

มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกล่าวหาสหภาพยุโรป (EU) ว่าปิดกั้นการเข้าถึงตลาดน้ำมันพืชด้วยกฎหมายใหม่ที่ป้องกันการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้บริษัทต่างๆ ออกแถลงการณ์อย่างละเอียดแสดงให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาไม่ได้มีส่วนในการทำลายป่าไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกปรับจำนวนมาก โดยข้อบังคับนี้จะใช้กับถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้และกาแฟและผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ได้มาจากธรรมชาติ

นาย Fadillah Yusof รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งส่งผลกระทบในทางลบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก 

"ระเบียบที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าเป็นกฎหมายที่ยุโรปจงใจปิดกั้นการเข้าถึงตลาด ทำร้ายเกษตรกรขนาดเล็กและปกป้องตลาด เนื่องจากการผลิตน้ำมันในประเทศไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันกับต้นทุนน้ำมันปาล์มได้" เขากล่าวในแถลงการณ์

 

น้ำมันปาล์ม ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าแทบทุกอย่างตั้งแต่คุกกี้ไปจนถึงเครื่องสำอางและน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นน้ำมันพืชที่ถูกที่สุดในโลก แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมได้กล่าวโทษการเพาะปลูกปาล์ม เป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าอย่างแพร่หลาย

แต่บริษัทน้ำมันปาล์มหลายแห่งในอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ใช้มาตรฐานการรับรองความยั่งยืนทั้งในระดับโลกและระดับประเทศแล้ว โดยระบุว่าได้ยึดมั่นในนโยบายไม่ตัดไม้ทำลายป่า 

มาเลเซียประณามยุโรปปิดกั้นการเข้าถึงตลาดของน้ำมันปาล์ม

อย่างไรก็ตาม  Fadillah กล่าวว่ากฎระเบียบจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับผู้ส่งออกมาเลเซีย 

"มาเลเซียเหมือนตกเป็นจำเลย หากน้ำมันปาล์มหรือประเทศมาเลเซีย ถูกกำหนดให้มีความเสี่ยงสูงตามระเบียบของสหภาพยุโรป" 

 

เมื่อวันพุธทีผ่านมา Michalis Rokas เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศมาเลเซียได้ตอบโต้คณะกรรมการบริหารน้ำมันปาล์มกล่าวว่าการเรียกร้องการห้ามใช้น้ำมันปาล์มเป็นเรื่องไม่จริงและทำให้เข้าใจผิด'น้ำมันปาล์มที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าและผลิตตามกฏหมายจะยังคงวางขายในตลาดสหภาพยุโรปต่อไป' 

 

กฎหมายใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายด้านพลังงานทดแทนของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้เลิกใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มภายในปี 2030 เป็นผลให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรปหดตัวลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ 

 

ในช่วงไม่กี่ปทีผ่านมา มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวว่ามาตรการของสหภาพยุโรปเป็นการเลือกปฏิบัติ