posttoday

เศรษฐีน้ำมันตกยาก เมื่อซาอุฯ ต้องกู้เงินมาต่อชีวิต

23 เมษายน 2563

ซาอุฯ ต้องเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อนำเงินมาชดเชยรายได้จากน้ำมันที่หายไป

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงนี้ ส่งผลกระทบกับประเทศที่พึ่งพารายได้จากการค้าน้ำมันเป็นหลักอย่างซาอุดีอาระเบียอย่างหนัก และเริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจซาอุฯ จะหดตัวต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีลางๆ แล้ว

1. ปีที่แล้วซาอุดีฯ มีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ 780,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน และเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

2. ในปีเดียวกันซาอุฯ มีรายจากน้ำมันราว 157,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของจีดีพี

3. ด้วยอานิสงส์ของราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นปีที่แล้วซาอุฯ มีงบประมาณเกินดุลมาถึง 10,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 ปี

4. และจากข้อมูลของ Wealth-X Billionaire Census 2019 ซาอุฯ มีมหาเศรษฐีถึง 57 คน ความมั่งคั่งรวมกันราว 147,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

5. จากตัวเลขต่างๆ นี้ คงจินตนาการไม่ออกเลยว่าซาอุฯ จะเดือดร้อนเรื่องเงินได้อย่างไร

6. แต่ในวันนี้ วันที่ความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกลดลงกว่า 30% จากมาตรการล็อกดาวน์สกัดเชื้อโคโรนาไวรัส เศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับหนึ่งของโลกและพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบ 90% กลับกำลังซวนเซ

7. โมฮัมเหม็ด อัล จาดาอัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศว่าปีนี้ซาอุฯ อาจต้องเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศมูลค่ารวม 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดชเยรายได้จากน้ำมันที่ขาดหายไป โดยการออกพันธบัตรครั้งนี้มีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ซาอุฯ ออกพันธบัตรต่างประเทศครั้งแรกในปี 2016  

8. เฉพาะเดือนนี้ซาอุฯ กู้เงินมาแล้ว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

9. เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการซาอุฯ เพิ่งขยายเพดานหนี้เพิ่มเป็น 50% ของจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 30% เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณเนื่องจากรายได้จากการค้าน้ำมันลดลง  

10. นอกจากนี้ ยังมีแผนว่าจะตัดลดรายจ่ายอย่างอื่นเพิ่มอีก อาทิ รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การจัดอีเว้นต์ และกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งชะลอโครงการต่างๆ ไว้ก่อน หลังจากที่เพิ่งประกาศหั่นงบประมาณปี 2020 ลง 5% เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

11. นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ตามที่ได้ตกลงกับรัสเซียในนาม OPEC+ จะทำให้ซาอุฯ ต้องสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

12. ในรัชสมัยของกษัตริย์อัลดุลเลาะห์ กษัตริย์พระองค์ก่อนซาอุฯ มั่งคั่งร่ำรวยมาก  มีการแจก “ของขวัญ” ชิ้นใหญ่แก่ประชาชนทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกคน 15% และการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนามูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ประชาชนกู้แบบไร้ดอกเบี้ยเพื่อนำไปสร้างบ้าน หรือสร้างธุรกิจของตัวเอง

13. ส่วนกษัตริย์ซัลมานองค์ปัจจุบัน ทรงแจกเงินประชาชนรวมกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเฉลิมฉลองที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี 2015

14. ทว่าหลังจากวิกฤตราคาน้ำมันดิ่งเหวช่วงปี 2014-2016 มาตรการรัดเข็มขัดก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ซาอุต้องทำอะไรที่ไม่เคยทำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะตัดเงินเดือนข้าราชการ 20% และยังชะลอการขึ้นเงินเดือน ตัดค่าทำงานล่วงเวลา รวมทั้งเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5%

15. นอกจากนี้ ยังลดค่าที่พักและรถยนต์ส่วนตัวของคณะที่ปรึกษาของกษัตริย์ลง 15% รวมทั้งตัดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลงในประเทศ ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นถึง 80% และตัดค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิกราชวงศ์ด้วย

16. และครั้งนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ส่งแรงกระเพื่อมมาถึงรายได้ของประเทศอีกครั้งจนเงินขาดมือ เนื่องจากกว่า 60% ของรายได้ในปีนี้มาจากน้ำมัน

17. ริคาร์โด เฮาส์มานน์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปรียบเทียบสถานการณ์ที่ซาอุเผชิญไว้ว่าเป็นการ “รับศึกสองด้าน” คือทั้งจากการระบาดของ Covid-19 และจากวิกฤตราคาน้ำมัน

ศึกแต่ละด้านก็หนักหนาพอตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อดาหน้ามาพร้อมๆ กันทั้งสองทัพปัญหาคงทบเท่าทวีคูณ

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน / จารุณี นาคสกุล