posttoday

5จี ใกล้ความจริง ประเดิมสนามโอลิมปิก

17 กุมภาพันธ์ 2561

พยองชางเกมส์ หรือมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ยังเป็นเวทีเปิดตัวโชว์ศักยภาพของ 5จี เครือข่ายการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

พยองชางเกมส์ หรือมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งเปิดฉากขึ้นนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ไม่เพียงเป็นสนามประลองความสามารถของบรรดานักกีฬาทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีเปิดตัวโชว์ศักยภาพของ 5จี เครือข่ายการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สาย ซึ่งกำลังจะมาพลิกระบบการสื่อสาร ทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ในพยองชางเกมส์ครั้งนี้ เกาหลีใต้ตั้งใจจะทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะ เพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงการเอา 5จี มาใช้ในเชิงพาณิชย์ระดับแมส ก่อนจะเริ่มนำมาใช้จริงทั่วโลกในปี 2020 เมื่อพยองชางเกมส์สิ้นสุดลง เกาหลีใต้จะปิดเครือข่าย 5จี เพื่อให้นักพัฒนาได้วิเคราะห์ระบบการถ่ายโอนข้อมูลและจุดอ่อนต่างๆ โดยเกาหลีใต้ตั้งเป้าจะเริ่มใช้ 5จี ก่อนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019 นี้

ทั้งนี้ เครือข่าย 5จี มีจุดเด่นเรื่องความเร็วสูงมาก โดยเร็วกว่า 4จี ในปัจจุบันถึง 100 เท่า เนื่องจากสามารถรับส่งข้อมูลได้ 10 กิกะบิต/วินาที ทำให้สามารถส่งวิดีโอความคมชัดสูงได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที

นอกจากนี้ เครือข่าย 5จี ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายล้านชิ้นและมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออุปกรณ์แบบไร้สาย จะปูทางไปสู่ยุคแห่ง "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันอย่างปราศจากขีดจำกัด โดย 5จี จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดรน รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ และเครื่องจักรมากมาย สามารถถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมหาศาลได้แบบเรียลไทม์

"เมื่อปีที่แล้วนั้น เราดำเนินการทดสอบ 5จี เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวในสภาวะหลายแบบที่แตกต่างกัน และในปีนี้เรากำลังจะก้าวไปสู่ขั้นการทดลองขยายการใช้ 5จี จริง และดูว่าทำไม 5จี จึงสำคัญสำหรับผู้คน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ" อโลก ชาห์ รองประธานฝ่ายเครือข่ายและการพัฒนาธุรกิจของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ภูมิภาคอเมริกา กล่าว

ด้วยเหตุนี้ พยองชางเกมส์ที่มีนักกีฬาและผู้ชมเข้าร่วมงานหลายพันคน จึงเป็นสนามทดสอบ 5จี ที่เหมาะสมที่สุด โดยสนามกีฬา 4 แห่งและบริเวณส่วนจัดนิทรรศการ ได้รับการติดตั้งระบบ 5จี ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. โดยผู้ชมสามารถดูการแข่งสกีและฮอกกี้แบบสดได้อย่างคมชัด 360 องศา ผ่านแท็บเล็ตของ เคที ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของเกาหลีใต้ พร้อมรับรู้ข้อมูลของนักกีฬาระหว่างแข่งไปด้วย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต รวมถึงยังเลือกมุมมองการแข่งที่อยากดูได้ถึง 40 องศา เนื่องจากกล้องรอบสนามสามารถจับภาพและส่งข้อมูลภาพดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน การชมกีฬาความคมชัดสูงผ่านอุปกรณ์วีอาร์ (Virtual Reality : VR) ยังเป็นอีกจุดเด่นหลักในการทดลองใช้ 5จี ครั้งนี้ โดยกล้องรอบสนามสามารถจับภาพการแข่งแล้วส่งตรงไปยังอุปกรณ์วีอาร์ของผู้ชมได้ในทันที

นอกจากนี้ ขอบเขตการทดลองใช้ 5จี ยังขยายไปยังรถบัสรับส่งไร้คนขับ และการใช้ไล่หมูป่า ที่บุกเข้ามาคุกคามพื้นที่จัดงานด้วยเช่นกัน

ด้านบริษัทวิจัย ไอเอชเอส มาร์กิต และอีริคสัน คาดการณ์ว่า ประชากรโลกราว 1,000 ล้านคน จะได้ใช้ 5จี ภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ และ 5จี จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกให้มีมูลค่า 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 384 ล้านล้านบาท) ภายในกลางปี 2030

นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ญี่ปุ่นคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งเวทีแสดงศักยภาพ 5จี ด้วยเช่นกัน โดยนิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ในญี่ปุ่น 3 แห่ง ประกอบด้วย เคดีดีไอ, เอ็นทีที โดโคโม และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป คาดว่าจะลงทุนมหาศาลในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 5จี ก่อนถึงช่วงกีฬา โตเกียว โอลิมปิก 2020 นี้

ล่าสุดนั้น เอ็นทีที โดโคโม ประกาศจะเปิดโครงการให้องค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจในประเทศเข้ามาร่วมพัฒนา 5จี นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.นี้ โดย บริษัทระบุว่า มีองค์กรสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทั้งหมด 523 แห่งแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ เอ็นทีที โดโคโม ประกาศแผนให้บริการ 5จี สำหรับงานโตเกียว โอลิมปิก

ทั้งนี้ การเร่งเดินหน้าพัฒนา 5จี ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเอเชียเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เอทีแอนด์ที ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐ เตรียมเปิดบริการเครือข่าย 5จี ภายในปีนี้ ด้านเวอไรซอน คู่แข่งเอทีแอนด์ที ประกาศว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการทดสอบ 5จี เมื่อไม่นาน

รูป- Intel