posttoday

ชงออกตราฮาลาลไทยเอื้อเมดิคัลฮับ

25 ธันวาคม 2556

สธ.ชง อย.ออกมาตรฐานฮาลาลไทย ดันแผนฮาลาลต้นน้ำเอื้อเมดิคัลฮับ ดูดตลาดมุสลิม 1.4 พันล้านคน

สธ.ชง อย.ออกมาตรฐานฮาลาลไทย ดันแผนฮาลาลต้นน้ำเอื้อเมดิคัลฮับ ดูดตลาดมุสลิม 1.4 พันล้านคน

น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) รับผิดชอบดำเนินการพิจารณาออกมาตรฐานฮาลาลไทยให้แก่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอาหารและยาประเภทต่างๆ ที่ได้รับมาตรฐานอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งมาตรฐานของ อย. มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (จีเอ็มพี) โดยต้องเป็นอาหารและยาที่ผ่านฮาลาลในระดับที่ชาวมุสลิมในระดับสากลยอมรับ

“แนวคิดคือเราต้องการให้สินค้าอาหารและยาในไทยเป็นสินค้า ฮาลาล เรดี้ หรือเป็นอาหารฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ใช่มารอปลายน้ำแล้วค่อยปรุงหรือหาวิธีทำให้เป็นฮาลาล เช่น ไก่ทุกตัวในไทยต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานฮาลาล เมื่อมอบตราฮาลาลไทยให้แก่สินค้าฮาลาล เรดี้ ก็จะทำให้ชาวมุสลิมมั่นใจในสินค้าอาหารและยาของไทยมากขึ้น” น.พ.ชาญวิทย์ กล่าว

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีชาวมุสลิมไม่ต่ำกว่า 1.4 พันล้านคน การผลักดันให้เกิดฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำ จึงจะช่วยให้ไทยเจาะตลาดชาวมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของโลกได้ง่ายขึ้น และจะกลายเป็นช่องทางสำคัญให้ไทยกลายเป็นเมดิคัลฮับของอาเซียน ช่วยภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต ช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าอาหาร ตลอดจนช่วยส่งเสริมครัวไทยไปสู่ครัวโลก

ทั้งนี้ จะให้ สสอป.เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานและหารือกับจุฬาราชมนตรีและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสินค้าฮาลาลในปัจจุบัน ในการจัดทำมาตรฐานและตราฮาลาลของไทยเอง เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ขณะที่ อย.จะทำหน้าที่ต่อยอดแก่ผู้ประกอบการต้นน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะดำเนินการออกมาตรฐานดังกล่าวเสร็จสิ้นได้เมื่อใด เนื่องจากเพิ่งมีการยุบสภา จึงต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

น.พ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริการอาหารที่ได้มาตรฐานฮาลาลในสถานพยาบาลนั้น กระทรวงได้นำร่องไปแล้วในโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอนาคตอาจมีการพิจารณาขยายไปในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับจำนวนชาวต่างชาติเข้ามารับบริการเชิงสุขภาพในไทย ล่าสุดข้อมูล ณ ปี 2555 ระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 2.53 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการในไทย นิยมเข้าใช้บริการในเขตกรุงเทพฯมากที่สุด โดยบริการที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมความงาม ผ่าตัดโรคหัวใจ ทันตกรรม โรคทางเดินอาหาร และตรวจสุขภาพ