posttoday

ศก.เดือนต.ค.กลับมาหดตัวแรง

30 พฤศจิกายน 2563

ธปท. เปิดตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ต.ค. กลับมาหดตัวแรง หลังแรงหนุนชั่วคราวหมดลง

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2563 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อน จากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2563 มีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกหมวด เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษในเดือนก่อนหมดลง ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 5.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 5.0% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างกลับมาหดตัวเล็กน้อยตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับกิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 12.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัว 9.9% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัว

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังมีจำนวนน้อย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ สำหรับตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม