posttoday

เปิดวาระลับรัฐบาลถังแตก ไม่กู้อยู่ไม่ได้เงินหมดคลัง

27 สิงหาคม 2563

วาระลับคลังขอกู้เงินเพิ่มกว่า 2 แสนล้านบาท ระบุชัดไม่กู้ไม่ได้ เดือน ต.ค. เงินหมด เบิกจ่ายประเทศมีปัญหา

เมื่อเปิดวาระลับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้คลังกู้เงินเพิ่มอีกกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อเติมเงินคงคลังให้มีเงินเพียงพอกับการเบิกจ่ายของประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นชัดว่ารัฐบาลถังแตกจริงหรือไม่

วาระลับการกู้เงินดังกล่าว ได้ถูกเปิดเผยออกมาเป็นทางการแล้ว โดยคลังได้มีการเสนอเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาบรรจุเป็นวาระตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2564

โดยในหนังสือได้ระบุสาระสำคัญของการของการกู้ดังกล่าวว่า

"การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ปีงบประมาณ 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุงแรงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 5-6% กระทรวงการคลังได้มีการทบทวนรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 และคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณจำนวน 394,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 139,898 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายงบอุดหนุนของหน่วยงานต่างๆ

ดังนั้น เพื่อให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอกับการเบิกจ่ายของหน่วยงานและสอดคล้องกับมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่าย จึงจำเป็น ต้องดำเนินการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revennue Shotfall) เพิ่มเติม

ซึ่งตามมาตรา 7 มาตรา 21(1) และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดกรอบการเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไว้เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น หรือ เท่ากับ 683,093 ล้านบาท

โดยในปีงยประมาณ 2563 มีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้วจำนวน 469,000 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินกู้สำหรับกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ไม่เกิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้บรรจุเพิ่มเติมไว้ในแผนการก่อหนี้ที่ปรับปรุงใหม่"

จากสาระสำคัญดังกล่าว ถือได้ว่ารัฐบาลขาดสภาพคล่องรุนแรงถึงขั้นถังแตก เงินในมือทั้งจากการหารายได้และการกู้ที่ขอไว้เดิมไม่พอ ทำให้รัฐบาลต้องกู้เพิ่มอีกกว่า 2 แสนล้านบาทดังกล่าว เป็นที่มาขอของรัฐบาลถังแตกนั้นเอง

การเสนอเรื่องเข้า ครม. กู้เงินถังแตก ยังมีความเห็นจากสภาพัฒน์ประกอบด้วยว่า

"สภาพัฒน์ เห็นควรให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่ม 214,093 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไทย 2563 มีข้อจำกัดในการขยายตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังประมาณไว้"

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบการขอกู้เพิ่มของคลังในครั้งนี้ว่า

"ธปท. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งขนาดและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินภายใต้สถานการณ์จำลองต่างๆ (Scenario Planning) โดยเฉพาะกรณีเลวร้าย (Worse Case) ที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาดหรือกรณีมีการแพร่ระบาดรอบสอง เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานของรัฐให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเป็นกำลังหลักในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป"

เมื่อฟังจากสาระสำคัญของคลังที่ขอกู้เงิน 214,093 ล้านบาท และความเห็นของสภาพัฒน์ และ ธปท. ถึงความจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว น่าจะเป็นเหตุผลมากพอที่ทำให้รัฐบาลยอมรับว่าถังแตก และเอาเวลาที่มาปฏิเสธเรื่องนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาจะทำให้ประเทศถังแตกน้อยกว่านี้ได้อย่างไรจะดีกว่า