posttoday

แนะขึ้นภาษีบุหรี่อัตราเดียว40%แบบเป็นขั้นเป็นตอน

14 มกราคม 2563

นักวิชาการแนะรัฐแก้ปัญหาภาษีบุหรี่แบบยั่งยืน แนะสรรพสามิตขึ้นภาษีเป็นอัตราเดียวแบบเป็นขั้นเป็นตอน

นักวิชาการแนะรัฐแก้ปัญหาภาษีบุหรี่แบบยั่งยืน แนะสรรพสามิตขึ้นภาษีเป็นอัตราเดียวแบบเป็นขั้นเป็นตอน

จากการที่กรมสรรพสามิตได้ออกมาเปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ กรมสรรพสมิตจะจัดให้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการปรับขึ้นภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียว 40% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ว่า มีความจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ เพราะทั้งผู้ประกอบการ ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ไม่ต้องการให้ปรับขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อยอดขายบุหรี่อย่างรุนแรง และส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการโดน ยสท. ลดการซื้อใบยาสูงลง

รศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการภาษีบุหรี่เป็นมาตรการสำคัญในการช่วยควบคุมการบริโภคบุหรี่ โดยปกติรัฐมีการปรับภาษีบุหรี่เป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นสอดรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบหลักๆ มาจากการเพิ่มขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ที่สูงมากในปี 2560 จนทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด หรือ เกือบ 40% ในขณะที่กำลังซื้อคนไทยไม่ได้โตสูงขนาดนั้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้ยอดขายของบุหรี่ลดลงตามมา ในขณะที่สินค้าทดแทนอย่างยาเส้นได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะยังคงเสียภาษีต่ำมาก

“การที่ชาวไร่ยาสูบและ ยสท. ออกมาคัดค้านไม่ให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ทำให้รัฐไม่สามารถปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ดี การปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เป็นอัตราเดียวยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการใช้อัตราภาษีมูลค่าสองอัตราที่ 20% และ 40% ยังไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักสากลที่ระบุไว้ชัดว่าระบบภาษีควรใช้อัตราภาษีแบบอัตราเดียว ไม่ควรมีหลายอัตรา เพราะจะทำให้บริษัทบุหรี่พยายามหาช่องว่างทางภาษีเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่าได้ โดยจากการเปิดเผยข้อมูลองค์การอนามัยโลกในรายงาน WHO report on the global tobacco epidemic 2019 พบว่า ราคาบุหรี่ที่ถูกที่สุดในประเทศไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 38 ของราคาบุหรี่ที่แพงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งต่ำเป็นอันดับที่ 42 จาก 157 ทั้งหมดประเทศที่มีการรายงานข้อมูล และชี้ให้เห็นว่า ระบบภาษียาสูบไทยแบบสองอัตราสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าที่ถูกกว่าแทน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้รัฐเสียรายได้ภาษี และที่สำคัญคือการบริโภคยาสูบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

รศ.ดร. อรรถกฤต เสนอว่า “อยากเห็นกรมสรพสามิตแก้ไขปัญหาภาษียาสูบแบบยั่งยืน โดยควรกำหนดแผนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียวในระยะยาวและให้เป็นขั้นเป็นตอน โดยหาจุดสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและชาวไร่ยาสูบ การปรับขึ้นภาษียาสูบเป็นแบบอัตราเดียวถือเป็นนโยบายที่ดีและน่าสนับสนุน เพราะสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลกด้วย แต่ด้วยภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ทำให้เกิดการคัดค้านการปรับขึ้นอัตราภาษีอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2563 ดังนั้น แนวทางที่อยู่ตรงกลางน่าจะเป็นการประกาศค่อยๆ ขึ้นภาษี โดยใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการที่ปรับเปลี่ยนไปสู่อัตราภาษีบุหรี่อัตราเดียว เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบด้วยมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานทางการเมืองโดยเฉพาะในระยะสั้นได้ และไม่ต้องมาคอยนั่งแก้ไขภาษีกัน บ่อยๆ”

รศ.ดร. อรรถกฤต ยกตัวอย่างการขึ้นภาษีบุหรี่ในต่างประเทศที่มีการดำเนินการงต่อเนื่องและประกาศล่วงหน้าให้ทุกฝ่ายปรับตัวได้ “การปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ในต่างประเทศมีตัวอย่างการปรับระบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น ในฟิลลิปปินส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 มีการประกาศปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ล่วงหน้า 5 ปี จนในที่สุดสามารถยุบรวม 4 ขั้นอัตราภาษี เหลือเพียงอัตราเดียวได้ในปี ค.ศ. 2017 และในประเทศอังกฤษที่มีนโยบายขึ้นภาษีบุหรี่โดยอ้างอิงดัชนีราคาขายปลีก (Retail Price Index หรือ RPI) โดยตั้งแต่ มี.ค. 2015 - ต.ค. 2018 พบว่า อังกฤษประกาศขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ตามปริมาณรวม 4 ครั้ง จาก 189.49 ปอนด์/1,000 มวน เป็น 228.29 ปอนด์/1,000 มวน หรือปรับขึ้นทั้งสิ้น 20% ในช่วงเวลา 3.5 ปี หรือเฉลี่ยขึ้นปีละ 5%”