posttoday

"สมคิด จิรานันตรัตน์" เตือนแบงก์'ดิสรัปชั่น'กำลังมา

14 ธันวาคม 2561

สมคิด มองา ธุรกิจธนาคาร ยังไม่เจอดิสรัปชั่น ขณะนี้แค่เริ่มๆ เหมือนเห็นคลื่นใหญ่จะซัดเข้าหา ก็เตรียมตัวรับมือกันแต่คลื่นจริงยังไม่มา ถ้ามาถึงจะหนักกว่านี้

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทย ประกาศเป็นผู้นำในการเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้ง ด้วยการตั้งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (เคบีทีจี) ขึ้น ในลักษณะแบบซิลิคอน วัลเลย์ ในอเมริกา

บรรยากาศการทำงานที่อาคารอัจฉริยะ ถนนแจ้งวัฒนะ อันเป็นที่ตั้งของเคบีทีจีนั้น แตกต่างสุดขั้วกับการทำงานธนาคาร เน้นความเปิดโล่ง ไร้กรอบ และผ่อนคลาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ของบรรดา ฟินเทค ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ แต่ประธานกรรมการของ เคบีทีจี ยังไม่มีใครอยู่ทน เพราะประธานคนแรก "ธีรนันท์ ศรีหงส์" อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ก็ลาออกไปก่อน และในสิ้นปีนี้ ประธานคนที่สอง "สมคิด จิรานันตรัตน์" ก็จะหมด วาระในสิ้นปี 2561 นี้ โดยยื่นขอไม่ต่ออายุงาน

สมคิด เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ ถึงการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งว่า คิดตลอดเวลาว่าเรามีค่า สามารถทำอะไรให้องค์กรมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้คิดว่าจะลาออกเมื่อไหร่ยังไง ไม่จำเป็นว่าหมดสัญญาแล้วจะออก คิดว่าเราทำประโยชน์ต่อองค์กรได้ไหม หรือคนอื่นทำประโยชน์ได้ดีกว่า ก็ควรจะไป นี่เป็นหลักคิดเบื้องต้น

"ตอนที่ทำสัญญากับธนาคาร ให้มาทำเคบีทีจี มีภารกิจจะต้องทำ ให้เคบีทีจีเป็นบริษัทเทคโนโลยี จะดูเรื่อง เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น และดูว่า แบรนดิ้งของเคบีทีจีหรือสิ่งที่ทำ สามารถดึงดูดบุคลากรที่เก่งๆ เข้ามาร่วมงานได้ไหม เพราะเคบีทีจีเป็นกำลังสำคัญของธนาคารกสิกรไทย" สมคิด กล่าว

หลังจากปลุกปั้นเคบีทีจีมา 3 ปี ในที่สุดแล้ว สมคิดก็สามารถผลักดันให้ เคบีทีจีเป็นที่รู้จักของคนในกลุ่มเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นสถาบันที่น่ามาร่วมงานด้วย

"เราดึงเด็กจากต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยดีๆ ระดับโลก กลับมามีเยอะ จากกูเกิล แอปเปิ้ล แอมะซอน  เขาบอกว่าอยากมาทำภารกิจที่น่าสนใจ ต้องเป็นภารกิจที่น่าสนใจและเปลี่ยนแปลงคนได้ มันจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตคนได้ให้ดีขึ้น Mission ที่เราเล่าให้เขาฟังเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ แนวคิดแบบเดิมอาจจะดึงดูดไม่มากพอ สาขานี้มีความต้องการเยอะ เขามีทางเลือกมาก เขาจะต้องเชื่อใน Mission และ Leadership เขาทำงานต่างประเทศก็ได้ เขามีความสามารถอยู่ในต่างประเทศได้เยอะแยะ แต่เขาอยากกลับมาช่วยประเทศไทย" ประธานเคบีทีจี กล่าว

สมคิด กล่าวว่า หลังจากที่ทำงานมาพักใหญ่ก็มองไปข้างหน้า สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยและเคบีทีจีต้องทำอาจต่างจากงานที่ทำทุกวันนี้ ในอนาคตมีความหลากหลายมากกว่า  ความถนัด ความเชี่ยวชาญที่เรามีอาจจะไม่เหมาะสมแล้ว เราต้องเปิดโอกาสให้คนใหม่หรือเปล่าเพราะอายุที่มากขึ้น ความคิดอ่านในอนาคตอาจจะไม่ทันเทคโนโลยี ทันโลกสมัยใหม่ ก็เลยได้คุยกับทางธนาคาร ซึ่งก็ลำบากใจทั้งสองข้าง แต่เพื่อผลดีของอนาคตธนาคาร และผลดีของเคบีทีจี ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

สมคิด มองว่า ธุรกิจธนาคาร ยังไม่เจอดิสรัปชั่น ขณะนี้แค่เริ่มๆ เท่านั้น เหมือนเห็นคลื่นใหญ่จะซัดเข้าหา ก็เตรียมตัวรับมือกันแต่คลื่นจริงยังไม่มา ถ้ามาถึงจะหนักกว่านี้ ที่ว่าจะหนักกว่านี้คือ การแข่งขันจะสูงขึ้น ไม่ใช่แข่งขันกันระหว่างธนาคารกับธนาคาร แต่เป็นการแข่งขันระหว่างธนาคารกับคนที่อยู่นอกธนาคาร ไม่ได้แข่งขันในกติกาเดิม เป็นการแข่งขันที่กติกาน้อยลง ใช้ความสามารถทางเทคโนโลยี ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์

"คนที่จะได้เปรียบคือคนที่สร้างความสนใจให้กับลูกค้าและคนที่จะดึงดูดลูกค้าให้มาอยู่ในโลกของแพลตฟอร์ม ตัวเองได้ เป็นงานที่ท้าทาย งานลักษณะแบบนี้จะต้องมี Partnership มีความร่วมมือภาคธุรกิจ สตาร์ทอัพ ฟินเทค ผมถนัดเรื่องของการสร้างแต่ไม่ถนัดในเรื่องของ Relationship การไปผูกสัมพันธ์กับคนข้างนอก คิดว่าน่าจะมีคนอื่นทำได้ดีกว่า เรื่องนี้จึงต้องคิดเยอะๆ ตัดสินใจเยอะๆ" สมคิด กล่าว

สมคิดมองธุรกิจธนาคารในอีก 5-10 ปีข้างหน้าว่า หน้าตาจะเปลี่ยนไปมาก ไม่เหมือนทุกวันนี้ ต้นทุนการดำเนินงานจะต่ำลงหลายสิบเท่า วิธีการทำธุรกิจจะใช้ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นในการให้บริการลูกค้า สาขาของธนาคารยังจำเป็นแต่อาจจะให้บริการแตกต่างไป เช่น ลูกค้ามีปัญหาการ ใช้งานเทคโนโลยีมาให้ช่วยแก้ไข อาจจะไม่ได้มาใช้บริการแบบเดิมๆ อีกแล้ว

"ผู้ชนะอาจจะมีอยู่ไม่กี่ราย ฉะนั้นคนที่ไม่พร้อมแล้วไม่ร่วมมือคนอื่นจะอยู่ยาก อาจจะถึงขั้นล้มหายตายจาก  ความไม่พร้อมไม่ได้หมายถึงเรื่องทุน เรื่องเงินทุนธนาคารมีอยู่แล้ว แต่เรื่องคน Skll, Vision และ Leadership เป็นเรื่องสำคัญที่จะพาให้องค์กรอยู่รอดได้ เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว Leadership สำคัญที่จะถือธงชักนำองค์กรพาให้คนเดินไป เป็นเรื่องสำคัญมาก" เขากล่าว

สำหรับธนาคารกสิกรไทย ได้มีการเตรียมพร้อมสร้างที่ที่แข็งแรงไว้เพื่อรับมือดิสรัปชั่น ที่ยังไม่พ้นและ จะเจอหนักและมากกว่าเดิม แต่ไม่ห่วงแม้ไม่มีเขาแต่ธนาคารมีคนทำ ธนาคารเป็นสถาบันจะต้องคงอยู่ ทีมที่เราสร้างแข็งแรง คนที่จะมาใหม่เขาก็มีความคิดอยู่ในโลกดิสรัปชั่นมาตลอด ก็จะเป็นกู๊ดคอมบิเนชั่น ถ้าเราสามารถผสมผสานได้ดี

เขายกตัวอย่างว่า "คนที่มาทำงานกับเรา เด็กรุ่นใหม่ๆ มีความคิดอ่านดีมาก มีความเข้าใจเทคโนและธุรกิจมีความคิดใหม่ๆ ทำผลิตภัณฑ์ออกมารวดเร็ว เราทำ KPLUS ใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงมากทีมงานใช้เวลาแค่ 10 เดือนมันก็ออกมาได้ ซึ่งก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจริงๆ"

"ผมไม่อยากคิดถึงผลงานของ ตัวเอง อันนี้เป็นหลุมพรางของการหลงตัวเอง แล้วทำให้เราเกิดความทุกข์ใจ ทำให้เราอยู่ในวังวนของความคิดที่ไม่ทำให้จิตใจเบิกบาน  ผมพยายามหนีห่างความรู้สึกนี้ มันไม่ได้ทำง่ายมันทำยาก อะไรที่เราปั้นมากับมือเราก็ผูกพันยึดติด เป็นเรื่องธรรมดา เราก็ต้องพยายามปลดตัวเองออกให้ได้  สิ่งที่เราช่วยกันทำมาที่เคบีทีจี เป็นการสร้างศักยภาพที่ประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน คือ ศักยภาพการทำเทคโนโลยีให้ไปสู่ระดับเวิลด์คลาส เป็นที่รู้จักเราดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาอยู่ร่วมชายคา ให้มองโลก มองธุรกิจที่แตกต่างจากที่คนไทยเคยทำกันอยู่ แต่ว่ามันเป็นโอกาสสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ดีมากที่จะเดินต่อไป" สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการที่เป็นผลงานของสมคิดในช่วงที่ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยก็ไม่น้อย ที่เขาระบุว่า ต้องฝ่าฟันออกมาจากความมืดที่ไม่รู้จุดหมายปลายทาง เช่น  โครงการเช็คเคลียริ่งด้วยภาพ เราขึ้นระบบโดยที่มีรูรั่วขนาดใหญ่ที่สร้างปัญหาความผิดพลาด โดยการทดสอบไม่ครอบคลุมการต้องถอยระบบที่ขึ้นไปแล้ว 8 สัปดาห์ มาที่ระบบเดิมมีความซับซ้อนที่ต้องทำให้สำเร็จในช่วงสุดสัปดาห์เป็นความกดดันที่สุดของที่สุด

โครงการ k-transformation โครงการยักษ์ใหญ่ ที่ซับซ้อน ด้วยความสามารถที่จำกัด ใช้เงินและทรัพยากรบุคคลมหาศาล 10 ปี กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ความอดทนและการจัดการที่เบ็ดเสร็จ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาด เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ระบบ Data information hub ที่เป็น กลยุทธ์สำคัญช่วยแบ่งเบาภาระของ Core bank และ Mobile banking ซึ่งขณะนี้มีหลายธนาคารในภูมิภาคกำลังทำเลียนแบบ Kmobile banking plus จะทำรูปแบบไหน อย่างไร โดยที่ไม่มีต้นแบบ ไม่มีโจทย์ที่ชัดเจน มีแค่กรอบเวลา และมีความรู้และทีมงาน ที่จำกัด เริ่มต้นมีคนใช้ไม่ถึงแสนจนตอนนี้มีเกือบสิบล้านคน เป็นต้นแบบของ Mobile banking ในเมืองไทย การเรียนรู้ในขณะที่ทำไปด้วย และสามารถสร้าง Network effect ได้ก่อนคนอื่น Insourcing from IBM โดยที่ได้ Outsource มาแล้วเป็นเวลา 13 ปี การเอาเข้ามาทำเองจะสร้างประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายและสร้างความสามารถในการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเองและสร้างศักยภาพทางการแข่งขันที่ ไร้ขีดจำกัด การนำเข้ามาทำเองและทำได้สำเร็จอย่างราบรื่นในช่วงเวลาไม่ถึงปี

นั่นเป็นเพียงผลงานบางส่วนที่สมคิดได้ฝากไว้ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่า จากนี้ไปบทบาทการเป็นผู้นำดิจิทัลแบงก์กิ้งของกสิกรไทย จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร